DSI ร่วม Connect Thailand เสวนา ต่อต้านการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กและเยาวชนออนไลน์ สกัดภัยไซเบอร์

เผยแพร่: 25 มี.ค. 2567 16:27 น. ปรับรุง: 17 เม.ย. 2567 13:17 น. เปิดอ่าน 50 ครั้ง   EN
 

วันศุกร์ที่ 22  มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น.  พันตำรวจตรี ยุทธนา  แพรดำ  รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนา “การต่อต้านการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเยาวชน” ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะกรรมการโครงการ Connect Thailand (A Networking & Anti Trafficking Forum) โดย มูลนิธิ A21  มูลนิธิ  Rise Foundation มูลนิธิ Freedom Story ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ โดยมี ร้อยตำรวจเอก เขมชาติ  ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์โครงการ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์การทำงานด้านการต่อต้านการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเยาวชนและการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก พร้อมสานสัมพันธ์ สร้างพันธมิตรและเครือข่ายการทำงานที่ยั่งยืน ณ ห้องรับรองกรมสอบสวนคดีพิเศษ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคารเอ)

          ปัจจุบันการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและเยาวชนทางออนไลน์ กลายเป็นปัญหาอาชญากรรมร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนไทยอย่างมาก ขณะเดียวกันก็มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นตามการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวกระโดด ผู้กระทำความผิดมีช่องทางและโอกาสเข้าถึงเหยื่อที่เป็นเด็กและเยาวชนได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น ส่งผลให้จำนวนคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น กรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะกรรมการโครงการ Connect Thailand (A Networking & Anti Trafficking Forum) เล็งเห็นความสำคัญทั้งทางของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและการแก้ไขปัญหาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กและเยาวชน จึงได้ร่วมกันจัดเวทีการเสวนา “การต่อต้านการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเยาวชน”      ที่เป็นโอกาสในการร่วมกันแก้ไขปัญหาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กและเยาวชน ในภาพรวมของประเทศ  และการร่วมแสดงความคิดเห็นในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญาในส่วนของคดีความผิดทางเพศเด็กให้มีความครอบคลุมยิ่งขึ้น อาทิ Child Grooming, Sexting, Sextortion, Cyber Stalking เป็นต้น  รวมทั้งการให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้ปฏิบัติต่อผู้เสียหายที่เป็นเด็กและเยาวชน โดยให้คำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจของผู้เสียหาย โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเด็กและเยาวชนจากหลายหน่วยงานร่วมเสวนา ได้แก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์การระหว่างประเทศ  สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศในประเทศไทย องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ และผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน กว่า 40 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 70 คน


เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ