DSI สนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบการตัดไม้ยางนาจำนวนมาก ในจังหวัดอำนาจเจริญ
เผยแพร่: 28 มี.ค. 2567 14:00 น. ปรับรุง: 28 มี.ค. 2567 14:00 น. เปิดอ่าน 1166 ครั้งวานนี้ (วันพุธที่ 27 มีนาคม 2567) พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ได้สั่งการให้ พันตำรวจตรี จตุพล บงกชมาศ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค มอบหมายให้ เรืออากาศตรี กิตติคม คงสมโภชน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 3 และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 65/2566 สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอเสนางคนิคม เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อจ.24 (ดงหัวกอง-ดงบังอี่) เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสามสี และนายช่างรังวัดสำนักงานที่ดิน จังหวัดอำนาจเจริญ ร่วมกันลงพื้นที่รังวัดสอบเขตที่สาธารณประโยชน์ในบริเวณริมห้วยสะแบก อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ ที่ตรวจพบตอไม้ยางนาที่ถูกกลุ่มนายทุนเข้าไปลักลอบตัดเหลือแต่ตอเพื่อยืนยันว่าไม้ยางนาที่ถูกตัดอยู่ในแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์บริเวณริมลำห้วยหรืออยู่ในแนวเขตที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของราษฎร ซึ่งหากตรวจสอบแล้วยืนยันว่าตำแหน่งตอไม้อยู่ในที่สาธารณประโยชน์ หรือที่ดินของรัฐประเภทอื่น จะเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย โดยได้ทำการจับค่าพิกัดบันทึกภาพถ่ายตำแหน่งตอไม้แต่ละจุดเพื่อนำไปเปรียบเทียบกับภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง รวมทั้งจัดทำแผนผังที่เกิดเหตุในคดีตามตำแหน่งของตอไม้ที่ถูกตัดที่อยู่ในแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ เพื่อนำมาประกอบสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษต่อไป
กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากนายอำเภอเสนางคนิคม และผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญได้ร้องทุกข์ต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ทำการสืบสวนสอบสวนกรณีมีกลุ่มนายทุนเข้าไปลักลอบตัดไม้ยางนาจำนวนมาก บริเวณริมลำห้วยหลายสาย ได้แก่ ลำห้วยสะแบก ลำห้วยบ้าน-ห้วยม่วง ห้วยละโอง ในท้องที่อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญอันเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยกรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ซึ่งเป็นความผิดอาญาตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1)แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
พฤติการณ์ในคดีนี้ คือมีกลุ่มนายทุนเข้าไปติดต่อกับชาวบ้าน หรือนายหน้าเพื่อขอซื้อไม้ยางนาและมีชาวบ้านบางรายร่วมกับกลุ่มนายทุนทำการลักลอบตัดไม้ยางนาในที่สาธารณประโยชน์บริเวณริมห้วยต่าง ๆ หรือในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เมื่อเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบแหล่งที่มาของไม้ก็จะอ้างว่าตัดไม้มาจากที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ลักษณะเป็นการสวมตอ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีไม้ยางนาถูกตัดไปแล้วกว่า 327 ตอ ซึ่งหลายตอมีความโต (เส้นรอบวง)ถึง 500 เซนติเมตร และจากการสืบสวนพบว่ามีพฤติการณ์ลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นในหลายท้องที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 7ที่แก้ไขเพิ่มเติมถือว่าไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินไม่เป็นไม้หวงห้ามแต่หากเป็นการลักลอบตัดไม้ยางนาในที่ดินสาธารณประโยชน์อันเป็นที่ดินของรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จะเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินและความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ที่แก้ไขเพิ่มเติม
การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปตามภารกิจของกรมสอบสวนคดีพิเศษและนโยบายของรัฐบาลโดย พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้กำชับให้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเร่งทำการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานโดยให้ขยายผลไปถึงกลุ่มนายทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องที่กระทำความผิดนอกจากนี้ยังมอบนโยบายว่าให้มีการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโดยยึดหลักความถูกต้องในการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติการบุกรุกที่ดินของรัฐทั้งยังต้องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังแจ้งเหตุให้กับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการปกป้องดูแลทรัพยากรป่าไม้และที่ดินอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ