DSI ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) ครั้งที่ 3

เผยแพร่: 13 ก.พ. 2568 11:42 น. ปรับปรุง: 13 ก.พ. 2568 11:43 น. เปิดอ่าน 246 ครั้ง  
 

DSI ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) ครั้งที่ 3



วานนี้ (วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568) เวลา 10.00 น. พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้ กองคดีความมั่นคง ภายใต้การกำกับดูแลของ พันตำรวจโท อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) ครั้งที่ 3 (1/2568) ณ ห้องประชุมมโนปกรณ์นิติธาดา ชั้น 12 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ ผู้อำนวยการกองคดีความมั่นคงได้มอบหมายให้ นายนิติกร เวชภูติ รองผู้อำนวยการกองคดีความมั่นคง พร้อมคณะเข้าร่วม โดยการประชุมครั้งนี้มี นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน พร้อมด้วย หัวหน้าหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมการจัดหางาน กรมการท่องเที่ยว กรมที่ดิน และกรมสรรพากร เข้าร่วมประชุม

ในการนี้ รองผู้อำนวยการกองคดีความมั่นคง ได้เสนอผลการดำเนินการปราบปรามและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดนอมินี (Nominee) รวมถึง ผลงานด้านการป้องกันและป้องปรามของของกองคดีความมั่นคง โดยบรรยายให้ความรู้กับนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ให้เข้าใจเกี่ยวกับการทำธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทย ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจ การต่างเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมพัฒนาธุรกิจการค้ายินดีสนับสนุนบุคลากรไปร่วมให้ความรู้

ทั้งนี้ ประธานได้แจ้งต่อที่ประชุมถึงความคืบหน้าของระบบ IBAS ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นระบบวิเคราะห์ข้อมูล ติดตามพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญของนิติบุคคลโดยระบบ IBAS อยู่ระหว่างการ พัฒนา คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้ และกรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้จัดทำระบบตรวจสอบที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ ของนิติบุคคลผ่านเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบได้ว่ากลุ่มมิจฉาชีพได้มีการนำทะเบียนบ้านของตนไปเป็นที่ตั้งของนิติบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ หากพบสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1570 เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังร่วมพิจารณาแนวทางการดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ ในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ได้แก่ การเสนอแก้ไขกฎหมายกำหนดให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับนอมินีเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การเสนอให้นำกระบวนการทางภาษีมาใช้ร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับนอมินี ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด ซึ่งมีรองปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจตามกฎหมายทุกหน่วยงานร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อตรวจสอบธุรกิจที่ใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (Nominee) และตรวจสอบสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่ได้มาตรฐาน ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ