DSI เลือกกรรมการพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (กพศ.) แทนตำแหน่งว่าง ทำหน้าที่กลั่นกรองการแต่งตั้งนอกวาระ - ลงโทษทางวินัย

เผยแพร่: 24 ม.ค. 2567 17:49 น. ปรับรุง: 24 ม.ค. 2567 17:49 น. เปิดอ่าน 854 ครั้ง  
 

เมื่อวันพุธที่ 17 มกราคม 2567 เวลาประมาณ 09.00 – 15.00 น. ณ ห้องประชุม 1 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ได้มีเปิดให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษลงคะแนนเลือกพนักงานสอบสวนคดีพิเศษระดับ 8 ขึ้นไป จำนวน 3 คน เพื่อทำหน้าที่คณะกรรมการพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หรือ กพศ. ในสัดส่วนพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในตำแหน่งระดับ 8 ขึ้นไป ซึ่งได้รับเลือกจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ด้วยกันเอง แทนตำแหน่งที่ว่างลง จำนวน 3 คน ต่อมา ได้มีประกาศกรมสอบสวนคดีพิเศษ ฉบับลงวันที่  18 มกราคม 2567 ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ประกอบด้วย (1) พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ (2) ร้อยตำรวจเอกสุรวุฒิ รังไสย์ ผู้อำนวยการกองคดีว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และ (3) พันตำรวจตรี จตุพล บงกชมาศ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ตามลำดับคณะกรรมการพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หรือ “กพศ.” เป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 35 ประกอบด้วยบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนหน่วยงานสำคัญในกระบวนการยุติธรรม รวมจำนวน 12 คน โดยมีที่มาจากผู้แทนสำนักงาน ก.พ. ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกรมพระธรรมนูญ คณบดีคณะนิติศาสตร์หรือเทียบเท่าของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน คณบดีคณะนิติศาสตร์หรือเทียบเท่าของสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน พนักงานสอบสวนคดีพิเศษในตำแหน่งระดับ 8 ขึ้นไป ซึ่งได้รับเลือกจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษด้วยกันเอง จำนวน 3 คน และข้าราชการกระทรวงยุติธรรมระดับ 9 ขึ้นไปซึ่งมิใช่ข้าราชการในกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งจำนวน 3 คน โดย กพศ. มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการพิจารณากลั่นกรองเกี่ยวกับการย้ายพนักงานสอบสวนคดีพิเศษไปดำรงตำแหน่งอื่น  อันมิใช่การเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นหรือย้ายประจำปีหรือย้ายเพราะเหตุอยู่ระหว่างดำเนินการทางวินัย หรือเป็นกรณีตกเป็นจำเลยในคดีอาญาที่ศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว การไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีแก่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ รวมถึงการลงโทษทางวินัยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรณีที่ผู้บังคับบัญชาพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะมีคำสั่งดังกล่าวข้างต้น จะต้องส่งความเห็นของตนพร้อมเหตุผลมายัง กพศ. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นว่าคำสั่งนั้นเป็นไปโดยถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ 

กพศ. จึงเป็นองค์กรด้านการบริหารงานบุคคลของตำแหน่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่สำคัญในการช่วยกลั่นกรองและอำนวยความยุติธรรมแก่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งคุ้มครองพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจากการถูกดำเนินการอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ