ศาลอาญาพิพากษาจำคุกจำเลยคดีฟอกเงินแชร์ลูกโซ่ “ไนซ์ เดย์ ทราเวล” หลอกลวงธุรกิจขายส่งน้ำผลไม้ - จัดหาที่พักให้นักท่องเที่ยว คนละ 5 ปี พบธุรกรรมผิดกฎหมาย 117 ครั้ง เงินหมุนเวียนรวมกว่า 157.8 ล้านบาท !!

เผยแพร่: 9 ก.ย. 2567 17:13 น. ปรับรุง: 13 ก.ย. 2567 9:51 น. เปิดอ่าน 3808 ครั้ง   EN
 

ศาลอาญาพิพากษาจำคุกจำเลยคดีฟอกเงินแชร์ลูกโซ่ “ไนซ์ เดย์ ทราเวล” หลอกลวงธุรกิจขายส่งน้ำผลไม้ - จัดหาที่พักให้นักท่องเที่ยว คนละ 5 ปี
พบธุรกรรมผิดกฎหมาย 117 ครั้ง เงินหมุนเวียนรวมกว่า 157.8 ล้านบาท !!

พันตำรวจตรี วรณัน  ศรีล้ำ
ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ


แฟ้มภาพ

         


        ตามที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ได้ทำการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 38/2560 กรณี มีบุคคลกล่าวหาบริษัท ไนซ์ เดย์ ทราเวล จำกัด กับพวก รวม 6 คน ว่ากระทำความผิดโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวง โดยประกาศโฆษณาต่อประชาชนทั่วไปผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ว่าบริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการขายส่งน้ำผลไม้ยี่ห้อ “ไอวี่” ธุรกิจเกี่ยวกับการจัดหาที่พักให้กับนักท่องเที่ยว และธุรกิจซื้อตุ๊กตาไปขายให้นักท่องเที่ยว มีการชักชวนประชาชนทั่วไปให้ร่วมลงทุนในธุรกิจดังกล่าว โดยเสนอผลตอบแทนคิดเป็นอัตราสูงสุดถึงร้อยละ 240 ต่อปี ของเงินที่ลงทุน โดยไม่มีการประกอบธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ดังกล่าวจริง เป็นเหตุให้มีผู้ร้องได้รับความเสียหายและมาร้องทุกข์ จำนวน 98 คน ความเสียหาย 99 ล้านบาทเศษ ซึ่งคดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ ได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 1294/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 18070/2563 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 พิพากษาปรับบริษัท ไนซ์ เดย์ ทราเวล จำกัด จำเลยที่ 1 จำนวน 49 ล้านบาท และพิพากษาจำคุก จำเลยที่ 2 - 6 ที่เป็นบุคคลธรรมดา จำนวน 98 กรรม รวมจำคุก คนละ 490 ปี ความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนมีอัตราโทษสูงจำคุกไม่เกินสิบปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกจำเลยที่ 2 - 6 มีกำหนด 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายในส่วนที่ยังไม่ได้รับคืน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ได้กู้ยืมไป คดีถึงที่สุดแล้ว

          นอกจากคดีดังกล่าวแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่มีการโอน รับโอน หรือเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดในคดีดังกล่าว ในความผิดฐาน “ฟอกเงิน” ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นคดีพิเศษที่ 50/2561 โดยคดีสอบสวนเสร็จสิ้นและส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด มีการยื่นฟ้องผู้ต้องหา เป็นจำเลย จำนวน 3 คน ประกอบด้วย 1. นายปริญญา (สงวนนามสกุล) 2. นางสาวจิรฐา หรือฝ้าย (สงวนนามสกุล) และ 3. นายวิชัย (สงวนนามสกุล) ซึ่งทางการสอบสวนพบว่ามีพฤติการณ์ในการฟอกเงินจากการกระทำความผิด โดยมีการรับโอนเงิน รวมกัน 117 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 157.8 ล้านบาทเศษ และนำไปซื้อทรัพย์สินหลายรายการซึ่งทรัพย์สินมีคำพิพากษาส่วนแพ่งแล้ว ล่าสุด ศาลอาญาได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ ฟ 31/2566 คดีหมายเลขแดงที่ ฟ 11/2567 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 พิพากษาจำคุกจำเลยทั้งสาม คนละ 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 5 ปี

          กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงขอประชาสัมพันธ์คำพิพากษาศาลอาญามาเพื่อทราบ ทั้งนี้ ขอแจ้งเตือนไปยัง กลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์จัดตั้ง “แชร์ลูกโซ่” ว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกสูงและถูกจำคุกเรียงกระทงความผิด

และอาจถูกดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงิน และถูกสำนักงาน ป.ป.ง. ยึดทรัพย์เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ด้วย

          “กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กำลังพัฒนาระบบเฝ้าระวังการกระทำความผิดเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ บนระบบอินเตอร์เน็ตด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อป้องปรามการกระทำความผิดดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และขอบอกว่าหากทำผิด นอกจากไม่มีโอกาสใช้เงินแล้ว ครอบครัวยังต้องเดือดร้อนด้วย” พันตำรวจตรี วรณัน  ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กล่าว

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ