ดีเอสไอ ร่วมกับ ม.มหิดล จัดงานสัมมนาวิชาการและประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ

เผยแพร่: 21 ส.ค. 2563 17:39 น. ปรับรุง: 21 ส.ค. 2563 17:39 น. เปิดอ่าน 1949 ครั้ง  
 

ดีเอสไอ ร่วมกับ ม.มหิดล จัดงานสัมมนาวิชาการและประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ

           วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม 2562 พันตำรวจโท ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาวิชาการและประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 Innovation for Crime Combating Conference and Contest 2020 (I4C-2020) กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์สนับสนุนการสืบสวนสอบสวน แต่เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าว กรมไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง จำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ มาประยุกต์ใช้ อีกทั้งยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริง ก่อให้เกิดการพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์รองรับความเปลี่ยนแปลงอาชญากรรมรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น

           ทางด้าน นางสุวิมล สายสุวรรณ ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้จัดโครงการฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงาน เพื่อเป็นการแสวงหา รวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ และสร้างเครือข่ายนักวิชาการที่เกี่ยวข้องในการวิจัยและพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์สนับสนุนการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ตลอดจนส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ

           การสัมมนาวิชาการและประกวดนวัตกรรมฯ ได้มีการจัดงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 โดยในปีนี้ได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดงาน และได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) โดยมีผู้เข้าร่วมงานฯ จำนวน 130 คน

           ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรม 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการสัมมนา ซึ่งประกอบด้วย การอภิปราย หัวข้อ “การสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ 4.0 : แนวทางและการขับเคลื่อน” และ หัวข้อ “การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ 4.0” และการบรรยาย หัวข้อ “เทคโนโลยีระบบอากาศยานไร้คนขับและการพิจารณานำไปใช้งานให้สอดคล้องตามภารกิจ” ส่วนที่สองเป็นการนำเสนอผลงานประกวดนวัตกรรมสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ โดยการประกวดครั้งนี้ มีผลงานผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมประกวด รวมทั้งสิ้น 13 ผลงาน แบ่งเป็นประเภทชิ้นงาน จำนวน 6 ผลงาน และประเภทแนวคิดทางเทคโนโลยี 7 ผลงาน

ผลการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 Innovation for Crime Combating Conference and Contest 2020 (I4C-2020)

           Popular Vote ได้รับโล่รางวัล ได้แก่ ผลงาน Idea T-04 การศึกษาการจำลองใบหน้าด้วยคอมพิวเตอร์สามมิติจากกระโหลกศรีษะในกลุ่มประชากรไทย ผู้ส่งผลงาน นายปกรณ์ นาวิก ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประเภทแนวคิดทางเทคโนโลยี

           รางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 เงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร ได้แก่ Idea T-04 การศึกษาการจำลองใบหน้าด้วยคอมพิวเตอร์สามมิติจากกระโหลกศรีษะในกลุ่มประชากรไทย ผู้ส่งผลงาน นายปกรณ์ นาวิก ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

           รางวัลชนะเลิศ อันดับ 2 เงินรางวัล 4,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ Idea T-01 ปัญญาประดิษฐ์สำหรับการประมาณอายุจากความหนาแน่นของเนื้อกระดูก โดยใช้ภาพถ่ายทางรังสีของกระดูกสันหลังส่วนเอว ผู้ส่งผลงาน นางสาวยานุมาศ มาลาทอง ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยชียงใหม่

           รางวัลชนะเลิศ อันดับ 3 เงินรางวัล 3,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ Idea T-06 การพิสูจน์ตัวตนทางชีวภาพเชิงพฤติกรรมผ่านรูปแบบการใช้งานบนสาร์ทโฟน ผู้ส่งผลงาน เรือตรีหญิง รติรส แผ่นทอง มหาวิทยาลัยมหิดล

ประเภทชิ้นงาน

           รางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร ได้แก่ Invent-06 การพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันสืบสวน สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลที่อยู่ทางภูมิศาสตร์ของผู้ต้องหาหรือจำเลยตามหมายจับของศาล ผู้ส่งผลงาน นายรพีภัค ธราธรพิทักษ์ คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

            รางวัลชนะเลิศ อันดับ 2 เงินรางวัล 8,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ Invent-04 ระบบเตือนภัยและตรวจสอบความปลอดภัยของแอปพลิเคชันบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ผู้ส่งผลงาน ปัณณวัชญ์ ปงคำ, ณัฐนนท์ วงศ์วิวัฒน์ชัย และ นันทิตา ธารัตชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

           รางวัลชนะเลิศ อันดับ 3 เงินรางวัล 6,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ Invent-01 การประยุกต์ใช้โปรแกรมทางคณิตศาสตร์ในการทำภาพเชิงซ้อนส่วนกระโหลกศรีษะมนุษย์ เพื่อหาค่าความคล้ายคลึงระหว่างภาพถ่ายใบหน้าและภาพถ่ายกระโหลกศรีษะ ผู้ส่งผลงาน นางสาวเจตนิพิฐ ศรีสิงหสงคราม คณะนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

 

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ