DSI ร่วมงานต้อนรับเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจสอบและต่อต้านการค้ามนุษย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (Office to Monitor and Combat Trafficking in Persons : TIP office) ที่ สตช.
เผยแพร่: 23 พ.ย. 2565 15:23 น. ปรับรุง: 23 พ.ย. 2565 20:09 น. เปิดอ่าน 746 ครั้งDSI ร่วมงานต้อนรับเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจสอบและต่อต้านการค้ามนุษย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
(Office to Monitor and Combat Trafficking in Persons : TIP office) ที่ สตช.
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เวลา 14.00 น. นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายเสกสิทธิ์ สวรรยาธิปัติ ผู้อำนวยการกองพัฒนาและสนับสนุนคดีพิเศษ และพันตำรวจตรี สิริวิชญ์ ชาญเตชะสิทธิ์กุล ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ ร่วมเป็นเกียรติในการต้อนรับเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจสอบและต่อต้านการค้ามนุษย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (Office to Monitor and Combat Trafficking in Persons : TIP office) ซึ่งเดินทางเยือนไทย ในระหว่างวันที่ 21 - 24 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) ได้จัดการประชุมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเชิญหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และ NGOs เข้าร่วมประชุมเพื่อต้อนรับและร่วมหารือข้อราชการด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
ในการนี้ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ฯ ในฐานะเจ้าภาพด้านดำเนินคดี (Prosecution) ตามนโยบายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาล ได้นำเสนอความก้าวหน้าของการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย และเจตจำนงของรัฐบาลในการมุ่งมั่นและจริงใจแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์
ทั้งนี้ นายไตรยฤทธิ์ฯ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้กล่าวถึงการให้ความสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และปลัดกระทรวงยุติธรรม ต่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ การจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (DSI VICTIM IDENTIFICATION CENTER) ที่สถาบันการสอบสวนคดีพิเศษ (DSI ACADEMY) เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร เพื่อให้การคุ้มครองแก่ผู้เสียหายหรือผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในช่วงระยะเวลาฟื้นฟูไตร่ตรอง (Reflection Period) และเพื่อรองรับกลไกลการส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM (National Referral Mechanism) ตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์คดีละเมิดทางเพศเด็ก (Child Sexual Exploitation Crime Center – CSECC) โดยมีฐานะเทียบเท่ากองเพื่อรับผิดชอบคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก
นอกจากนี้ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการป้องกันและแกไขปัญหาการค้ามนุษย์ ต่อไป