กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เสนอสำนวนพนักงานอัยการเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน จังหวัดภูเก็ต

เผยแพร่: 23 ส.ค. 2567 13:34 น. ปรับรุง: 23 ส.ค. 2567 13:41 น. เปิดอ่าน 1254 ครั้ง  
 

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)

เสนอสำนวนพนักงานอัยการเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน จังหวัดภูเก็ต


          (วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2567) พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พันตำรวจโท อมร หงษ์ศรีทองผู้อำนวยการกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้พันตำรวจตรี นิมิตร พรหมมา รองผู้อำนวยการกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 65/2567 - 67/2567และคดีพิเศษที่ 69/2567 - 70/2567  นำสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมตัวผู้ต้องหา จำนวน 5 คนไปยังพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 142

            กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากวิทยาลัยเทคนิคถลาง จังหวัดภูเก็ต ได้ร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบพื้นที่ของวิทยาลัยฯ ที่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน เพื่อจัดตั้งวิทยาลัยฯเนื่องจากมีบุคคลอ้างต่อวิทยาลัยฯว่ามีเอกสารการได้ร้บอนุญาตจากกรมป่าไม้ในการใข้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าวบางส่วนทับซ้อนกัน ซึ่งจากการสอบสวนพบว่ามีกลุ่มบุคคลแสดงตัวโต้แย้งสิทธิการถือครองที่ดิน

ของวิทยาลัยฯได้อ้างบัญชีสำรวจตามแบบบันทึกการใช้ที่ดินของบุคคลในพื้นที่ป่าไม้ (ท.ป.4) และบางรายได้เข้าถือครองที่ดินด้วยการซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน อันเข้าข่ายเป็นการบุกรุก ยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและที่ดินของรัฐ เข้าลักษณะเป็นการกระทำความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษที่ 59/2564 ซึ่งการสอบสวนได้เสร็จสิ้น และมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการแล้ว จำนวน 1 ราย จากการสอบสวนในคดีพิเศษดังกล่าวพบมีผู้กระทำความผิดอีกหลายรายโดยผู้กระทำความผิดต่างคนต่างกระทำความผิด ต่างวาระกัน และไม่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดร่วมกัน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้อนุมัติให้แยกเลขคดีพิเศษเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดแต่ละราย

โดยรับเป็นคดีพิเศษที่ 65/2567 ถึงคดีพิเศษที่ 72/2567 บัดนี้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสอบสวน

เสร็จสิ้นแล้วบางส่วนจึงได้สรุปสำนวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีพิเศษที่ 65/2567 คดีพิเศษที่ 66/2567 คดีพิเศษที่ 67/2567 คดีพิเศษที่ 69/2567และ 70/2567 จำนวน 5 คดี ผู้ต้องหาคดีละ 1 คน รวม 5 คน

ในความผิดฐานยึดถือครอบครองทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฐานก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ

อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่าเพื่อตนเอง หรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและฐานเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดให้เป็นการทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดิน

ที่หิน ที่กรวด หรือที่ทรายในที่ดินของรัฐ หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นอันตรายแก่ทรัพยากรในดิน ตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ส่งสำนวนการสอบสวน พร้อมตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปยังพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

      กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้ ทั้งในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ หรือที่ดินของรัฐ เนื่องจากการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ อันนำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ เช่น ปัญหาสภาวะโลกร้อน ปัญหาอุทกภัย เป็นต้น ดังนั้น หากประชาชนพบเห็นการบุกรุกทำลายป่า สามารถแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวได้ที่กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือเว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ www.dsi.go.th หรือ สายด่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ โทร. 1202 (โทรฟรีทั่วประเทศ)




เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ