DSI / ก.ล.ต. / บก.ปอศ. ร่วมประชุมหารือ เร่งสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานคดีพิเศษ “หุ้น STARK”

เผยแพร่: 26 มิ.ย. 2566 17:04 น. ปรับรุง: 26 มิ.ย. 2566 17:04 น. เปิดอ่าน 947 ครั้ง  
 

           

    สืบเนื่องจากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้รับกรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) “STARK” ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกรณีที่มีการพบความผิดปกติของงบการเงิน ซึ่งมีมูลน่าเชื่อว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เป็นคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547  
                วันนี้ (วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2566) พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมหารือแนวทางการดำเนินการ ร่วมกับ พลตำรวจโท จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ถึงแนวทางในการร่วมมือดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีให้เกิดประสิทธิภาพ โดยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้ให้การสนับสนุนพนักงานสอบสวนมาเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่สืบสวนสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
                และในวันเดียวกัน เวลา 15.00 น. พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมประชุมหารือกำหนดแนวทางดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นางพัฒนพร ไตรพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และคณะ พร้อมด้วย พันตำรวจเอก อภิชน  เจริญผล รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ พันตำรวจเอก นิตติโชติ เพ็ญจำรัส ผู้กำกับการ (สอบสวน) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และคณะ โดยในเบื้องต้นมีประเด็นที่ได้หารือกัน ดังนี้
               1. รูปแบบในการร่วมกันสืบสวนสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และจะเสนอให้มี
การแต่งตั้งให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่สืบสวนสอบสวนตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  
                2. ที่ประชุมฯ ได้ร่วมรับฟังข้อเท็จจริงและผลการดำเนินการที่ผ่านมา จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.)
               3. ได้ร่วมกันพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ พฤติการณ์แห่งคดี รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินคดีให้เกิดความรวดเร็ว  
               4. ทุกหน่วยงานจะร่วมกันบูรณาการโดยบังคับใช้กฎหมายทุกมิติให้เกิดประสิทธิภาพ  โดยให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยเร็ว เพื่อที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย และแก้ไขเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ลงทุน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนโดยเร็วต่อไป

 

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ