อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งเตือนภัยจากแก๊ง call center โดยแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หลอกลวงให้ประชาชนทำธุรกรรม
เผยแพร่: 28 ธ.ค. 2564 16:12 น. ปรับรุง: 28 ธ.ค. 2564 16:12 น. เปิดอ่าน 4729 ครั้งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งเตือนภัยจากแก๊ง call center โดยแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หลอกลวงให้ประชาชนทำธุรกรรม
เรียน พี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนที่รักทุกท่าน
ก่อนที่จะถึงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ที่เป็นวันหยุดพักผ่อนของหลายๆ ท่าน กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีเรื่องสำคัญที่จะมาย้ำเตือนทุกท่าน เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากร เนื่องจากภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อเนื่องกันถึง 2 ปี ทำให้มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของโลกและของประเทศในวงกว้าง และสืบเนื่องจากกรณีดังกล่าว ก็มีกลุ่มคนที่ฉวยโอกาสซ้ำเติมพี่น้องประชาชน ด้วยการหลอกลวง ผ่านการโทรศัพท์ หรือที่เราเรียกกันว่าแก๊ง CALL CENTER โดยแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือธนาคาร เพื่อหลอกลวงให้พี่น้องประชาชนทำธุรกรรมโดยอ้างว่าบัญชีของท่านถูกตรวจสอบหรือท่านไปเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดต่างๆ แล้วหลอกให้โอนเงินไปยังบัญชีของคนร้ายโดยอ้างว่าเพื่อเป็นการตรวจสอบหรือเพื่อความปลอดภัย สุดท้าย ก็ถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าว ซึ่งมีคนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก ดังที่ปรากฏข่าวอย่างต่อเนื่อง และทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันกลุ่มคนร้ายดังกล่าว ได้มีการโทรศัพท์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีการระบุชื่อ ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้เสียหายเชื่อถือ และแจ้งว่าท่านอยู่ระหว่างถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการฟอกเงิน และอยู่ระหว่างตรวจสอบบัญชีของท่าน มีการพูดจาหว่านล้อมให้เกรงกลัวว่าจะถูกอายัดทรัพย์ หรือถูกดำเนินคดี เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อจะให้ ADD LINE เพื่อใช้ติดต่อ และมีการส่ง ข้อกฎหมาย เลขคดี และอ้างชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยออกอุบายให้ผู้เสียหายโอนเงินไปยังบัญชีของกลุ่มคนร้ายที่อ้างว่าเป็นของทนายความ เมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วจะโอนเงินคืนให้ เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินแล้ว กลุ่มคนร้ายจะตัดการติดต่อและยักย้ายถ่ายเทเงินออกจากบัญชีดังกล่าวทันที ซึ่งมีพี่น้องประชาชนหลายราย ร้องเรียนมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ
กระผม ในฐานะอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอเรียนพี่น้องประชาชนในการป้องกันความเสียหายในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
ข้อ 1. จะไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐติดต่อพี่น้องประชาชนทางโทรศัพท์ให้ทำธุรกรรมทางการเงินหรือธุรกรรมใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ หากเป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะต้องมีหนังสือราชการเพื่อติดต่อ และนัดหมาย ณ สถานที่ราชการเท่านั้น
ข้อ 2. หากมีคนร้ายติดต่อมายังท่าน ให้พยายามขอข้อมูลในการติดต่อกลับ และอย่าได้ทำธุรกรรมใดๆ ทั้งสิ้น และนำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งความพนักงานสอบสวน ท้องที่ที่ท่านอยู่เพื่อเป็นเบาะแสในการดำเนินคดีกับคนร้ายดังกล่าว รวมทั้งขอให้แจ้งดังกล่าวมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทางสายด่วน 1202 หรือร้องเรียนผ่านเว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ดำเนินการสืบสวนติดตามร่องรอยคนร้ายโดยเร็วต่อไป
ข้อ 3. ในกรณีที่ท่านตกเป็นเหยื่อของคนร้ายโดยมีการโอนเงินเป็นที่เรียบร้อย ให้รีบแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุทันที และประสานธนาคารปลายทางที่โอนเงินไปให้ เพื่อติดตามร่องรอยทางการเงิน ต่อไป
ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าว ในเบื้องต้นจะเป็นความผิดในเรื่องการฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 วรรคสอง ที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาท) หรือ 140,000 บาท (หนึ่งแสนสี่หมื่นบาท) และถ้ามีการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบ LINE ก็อาจจะเป็นความผิดเรื่องโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 (1) ประกอบวรรคสอง ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท (หกหมื่นบาท) หรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย ยังไม่เพียงเท่านั้น การกระทำความผิดในเรื่องนี้ซึ่งเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นปกติธุระ ก็เป็นความผิดมูลฐานของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งผู้ที่โอน รับโอน เปลี่ยนแปลงสภาพ หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งเงินอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด หรือสมคบกันกระทำการดังกล่าว ก็จะมีความผิดฐานฟอกเงิน หรือสมคบฟอกเงินด้วย และมีอัตราโทษสูง กล่าวคือ จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท (สองหมื่นบาท) ถึง 200,000 บาท (สองแสนบาท) และถูกยึดทรัพย์สินอีกด้วย จะเห็นได้ว่าการกระทำผิดในเรื่องนี้ ผิดต่อกฎหมายหลายฉบับ และมีโทษสูง รวมถึงต้องถูกยึดทรัพย์ด้วย ดังนั้น จึงขอแจ้งเตือนไปยังกลุ่มผู้กระทำผิด และผู้ที่สนับสนุนการกระทำผิดดังกล่าว ไม่ว่าเป็นกลุ่มที่โทรศัพท์หลอกลวงคนไทยด้วยกัน ซึ่งวันหนึ่งอาจเป็นญาติพี่น้อง หรือครอบครัวของตนเองที่ถูกกระทำ รวมถึงกลุ่มที่ช่วยจัดการด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีเพื่อรับโอนเงิน การช่วยยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินขอให้หยุดกระทำการเสีย ในส่วนการหลอกลวงที่เกี่ยวกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น ผมได้สั่งการให้ศูนย์สืบสวนและสะกดรอย สืบสวนหาตัวคนร้าย โดยพบว่าคนร้ายใช้วิธีการโทรศัพท์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ (VOIP) และเกี่ยวพันกับคนต่างชาติ ซึ่งจะประสานข้อมูลกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อเร่งปราบปรามจับกุมโดยเร็ว ต่อไป ขอบคุณครับ
นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ