DSI ตรวจค้นอาคารเก็บสินค้าของผู้จำหน่ายรายใหญ่ และร้านจำหน่ายในศูนย์การค้าต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร ยึดสินค้าประเภทเสื้อผ้าและอื่น ๆ ที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าจำนวนมาก
เผยแพร่: 7 พ.ย. 2567 14:29 น. ปรับปรุง: 7 พ.ย. 2567 14:29 น. เปิดอ่าน 622 ครั้งDSI ตรวจค้นอาคารเก็บสินค้าของผู้จำหน่ายรายใหญ่ และร้านจำหน่ายในศูนย์การค้าต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร
ยึดสินค้าประเภทเสื้อผ้าและอื่น ๆ ที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.15 นาฬิกา ภายใต้การอำนวยการของ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้ ร้อยตำรวจเอก พลสัณห์ เทิดสงวน ผู้อำนวยการกองคดีทรัพย์สินทางปัญญา พันตำรวจโท ยุทธนา ตั้งกอบลาภ รองผู้อำนวยการกองคดีทรัพย์สินทางปัญญา และนายศักดา พิพัฒน์ธรรมกุล ผู้อำนวยการส่วนคดีทรัพย์สินทางปัญญา 3 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองคดีทรัพย์สินทางปัญญา และกองปฏิบัติการพิเศษ ร่วมกันนำหมายค้นของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำนวน 5 หมาย ในเรื่องสืบสวนที่ 108/2567 เข้าทำการตรวจค้นอาคารเก็บสินค้าของผู้จำหน่ายรายใหญ่ และร้านจำหน่ายในศูนย์การค้าต่าง ๆ รวม 5 แห่ง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ในเขตสะพานสูง เขตสวนหลวง เขตทวีวัฒนา เขตหลักสี่ และเขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร โดยถูกใช้เป็นสถานที่ในการลักลอบเก็บและจำหน่ายสินค้าประเภทเสื้อผ้าและอื่น ๆ ที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าจำนวนมาก โดยมีตัวแทนของผู้เสียหายเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย
ผลการตรวจค้น พบสินค้าประเภทเสื้อผ้า กระเป๋า และอื่น ๆ ที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าของบริษัทชั้นนำต่าง ๆ จำนวนประมาณมากกว่า 50,000 ชิ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดแยกและตรวจนับ มูลค่าความเสียหายประมาณ 20 ล้านบาท อาทิเช่น อาดิดาส (adidas) ไนกี้ (NIKE) หลุยส์ วิตตอง (LOUIS VUITTON) กุชชี (GUCCI) อันเดอร์ อาร์เมอร์ (UNDER ARMOUR) ลีวายส์ (LEVI’S) ลาคอสท์ (Lacoste) คาลวิน ไคลน์ (Calvin Klein) เดอะ นอร์ทเฟซ (The North Face) คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) เวอซาเช่ (VERSACE) เบอเบอรี่ (BURBERRY) บาเลนเซียก้า (BALENCIAGA) พูม่า (PUMA) เป็นต้น อันอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้ยึดสินค้าดังกล่าวและนำส่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษของกองคดีทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อตรวจสอบและเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมต่อไป
กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการป้องกันปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ และปกป้องประชาชนมิให้ได้รับอันตรายจากการใช้สินค้าปลอมต่าง ๆ ตลอดจนเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีสถานะการจัดอันดับการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในระดับที่ดีขึ้น โดยการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิของเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ยังเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงขอความร่วมมือจากประชาชน หากพบเห็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โปรดแจ้งเบาะแสได้ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ โทร. 1202 (โทร. ฟรีทั่วประเทศ)