จากสถิติคนสูญหายตั้งแต่ปี 2546 - ปัจจุบัน ถึง 2,800 คน DSI สนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีระบบฐานข้อมูล DNA เป็นเครื่องมือช่วยติดตามคนหายให้เจอ

เผยแพร่: 15 ต.ค. 2566 8:41 น. ปรับรุง: 15 ต.ค. 2566 8:41 น. เปิดอ่าน 1242 ครั้ง  
 

จากสถิติคนสูญหายตั้งแต่ปี 2546 - ปัจจุบัน ถึง 2,800 คน DSI สนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีระบบฐานข้อมูล DNA เป็นเครื่องมือช่วยติดตามคนหายให้เจอ


     เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566  พันตำรวจตรี สุริยา  สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ นายเขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ และเจ้าหน้าที่กองกิจการอำนวยความยุติธรรม เป็นผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมประชุมหารือแลกเปลี่ยนพูดคุยประเด็นของแนวทางการจัดทำฐานข้อมูลดีเอ็นเอสำหรับการติดตามคนหายของประเทศไทย จัดขึ้น ณ ห้องประชุม 202 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยหน่วยงาน GTH DNA  เพื่อมุ่งหวังให้เทคโนโลยี DNA ขั้นสูง เช่น ฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ DNA อย่างรวดเร็วแบบกระจายศูนย์ เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทบุคคลสูญหายของประเทศไทย ให้เป็นไปตามนโยบายของพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม ทำงานเชิงรุก เพื่อป้องกันอาชญากรรมและให้นำความยุติธรรมเข้าหาประชาชนอย่างทั่วถึง 


     ที่ประชุม ได้นำเสนอข้อมูลจากคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยบุคคลสูญหาย (ICMP) มีผู้สูญหายในประเทศไทยมากถึง 2,800 คนตั้งแต่ปี 2546 (ไม่รวมผู้สูญหายในเหตุการณ์คลื่นสึนามิปี 2547) จำนวนผู้สูญหายที่สูงสะท้อนถึงความท้าทายที่ยังคงมีอยู่ในกระบวนการเสริมสร้างสถาบันและการปฏิบัติงานของสังคมที่ปกครองโดยกฎหมาย และข้อมูลของมูลนิธิกระจกเงา มีเยาวชนมากกว่า 250 คนสูญหายในปีที่แล้ว สูงที่สุดในรอบ 4 ปี และสูงกว่าปี 2021 ถึง 25% นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเด็กได้เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงานเกี่ยวกับบุคคลสูญหาย ซึ่งตำรวจจะรอ 24 ชั่วโมงหลังจากบุคคลสูญหายก่อนที่จะเริ่มการสืบสวน ซึ่งไม่มีกฎหมายใดที่จะจัดการกับกรณีบุคคลสูญหายทันที ซึ่งหากมีการพัฒนาการสร้างฐานข้อมูล DNA เพื่อจะช่วยระบุบุคคลสูญหายและมีแนวทางการสืบสวนเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย  การจัดทำฐานข้อมูล DNA ไม่เพียงแต่เก็บโปรไฟล์ DNA ของอาชญากรเท่านั้น แต่ยังเก็บข้อมูลของศพนิรนาม ที่สามารถเป็นตัวอย่างในการอ้างอิงกับครอบครัวของบุคคลสูญหายอีกด้วย โดยการประชุมหารือในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ฯลฯ  


     ทางด้านนายเขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวถึงประสบการณ์การทำงานด้านการติดตามคนหาย และได้ยกตัวอย่างสำคัญ กรณี เด็กถูกละเมิดทางเพศในสถานสงเคราะห์ ที่เข้าลักษณะเป็นเด็กที่หายจากครอบครัว โดย DSI จะร่วมมือกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เพื่อทำภารกิจคู่ขนานไปกับการทำงาน ซึ่งจะยึดหลักให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นกระบวนการทำงานของภาครัฐ ที่จำเป็นต้องบูรณาการกับภาคีเครือข่ายการทำงานด้านคนหายที่มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง ตลอดจน อำนาจหน้าที่ที่แต่ละฝ่ายต้องร่วมมือกันจนประสบความสำเร็จ


     นอกจากนี้ ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังนำเสนอเครื่องมือและการให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี และสื่อสารสนเทศที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ ที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการติดตามคนหายอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบของการรวบรวมศูนย์กลางข้อมูล ที่หน่วยงานสามารถใช้ร่วมกัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการติดตาม และอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนอย่างสมบูรณ์


เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ