DSI ลงพื้นที่กาญจนบุรี ตรวจค้น2โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ กรณีถูกร้องเรียนสร้างมลพิษกระทบประชาชนในพื้นที่
เผยแพร่: 24 ก.ค. 2565 10:48 น. ปรับรุง: 10 ส.ค. 2565 17:22 น. เปิดอ่าน 1270 ครั้ง ENDSI ลงพื้นที่กาญจนบุรี ตรวจค้น2โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ กรณีถูกร้องเรียนสร้างมลพิษกระทบประชาชนในพื้นที่
ด้วยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับการร้องเรียนจากประชาชนตำบลเลาขวัญ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี กรณีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการดำเนินกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจำนวน 2 แห่งในพื้นที่ โดยมีการกล่าวหาว่ามีการปล่อยมลพิษส่งกลิ่นเหม็น ส่งเสียงดัง และมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำรางสาธารณะด้วย รวมทั้งมีการลักลอบนำน้ำเสียจากบริษัทไปเทราดถนน ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นมาก มีการปล่อยน้ำเสียไหลลงสู่พื้นที่เกษตรของชาวบ้านที่อยู่ด้านข้างถนน พืชผลการเกษตรจึงตกต่ำ และใบพืชเป็นสีเหลือง ทำให้ประชาชนบริเวณใกล้เคียงได้รับความเสียหาย
เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม 2565 นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งการให้นายเทวา จุฬารี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ เขตพื้นที่ 7 ลงพื้นที่ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันตก สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรียุติธรรมจังหวัดกาญจนบุรี อำเภอเลาขวัญ องค์การบริหารส่วนตำบลเลาขวัญ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองโสนเทศบาลตำบลเลาขวัญ และหน่วยงานอื่นๆ นำหมายค้นของศาลจังหวัดกาญจนบุรี เข้าตรวจค้นและพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 2 แห่ง คือ
1. บริษัท เลาขวัญ ไบโอพาวเวอร์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบล หนองโสน อำเภอ เลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี จากการตรวจค้นพบว่าบริษัทฯ มีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพิ่มเติม และไม่ปรากฏหลักฐานการขออนุญาต ต่อกรมโรงงานแต่ในขณะเข้าตรวจค้น ไม่มีการเปิดใช้งานเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จึงไม่สามารถวัดค่ามลพิษจากปล่องไอเสีย และความดัง กลิ่นเหม็น อันเกิดจากการทำงานของเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าได้
2. บริษัท เอ็นแมกซ์ ไบโอแก๊ส วัน จำกัด ตั้งอยู่ที่ หมู่ 11 ตำบลเลาขวัญ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี พบว่าขณะเข้าตรวจค้นมีการ ประกอบการโรงงาน โดย ตรวจพบมลพิษ จากไอเสียที่กล่องควันเครื่องจักร มีค่าเกินจากมาตรฐานที่กำหนด
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหสัดกาญจนบุรีซึ่งได้เข้าร่วมตรวจค้นจึงดำเนินการตามกฏหมาย โดยอยู่ระหว่างการมีคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขโรงงาน และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
อนึ่ง การปฎิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นการบูรณาการของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ของกระทรวงยุติธรรมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ตามนโยบาย “ยุติธรรมสร้างสุข” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกรมสอบสวนคดีพิเศษในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน