DSI รับคดีบุกรุกพื้นที่วิทยาลัยเทคนิคถลางพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน เป็นคดีพิเศษ
เผยแพร่: 28 ก.ย. 2564 13:54 น. ปรับรุง: 17 ต.ค. 2564 23:51 น. เปิดอ่าน 2232 ครั้ง ENDSI รับคดีบุกรุกพื้นที่วิทยาลัยเทคนิคถลางพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน เป็นคดีพิเศษ
สืบเนื่องจากวิทยาลัยเทคนิคถลาง จังหวัดภูเก็ต มีหนังสือร้องทุกข์และขอความอนุเคราะห์ ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าตรวจสอบพื้นที่ของวิทยาลัยเทคนิคถลางที่ได้รับอนุมัติจากกรมป่าไม้ เพื่อการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบางขนุน เนื่องจากมีบุคคลบุกรุกพื้นที่ดังกล่าว โดยอ้างว่าได้ถือเอกสารสิทธิจากกรมป่าไม้ และแย่งสิทธิการครอบครองกรณีดังกล่าว พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยนาย ภูรินท์พัฒน์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการส่วนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบการสืบสวน และมีนายเจตนา เหมมุน ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมและการข่าวกองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบร่วมเป็นคณะพนักงานสืบสวน จากการสืบสวนพบว่า ป่าบางขนุน ซึ่งอยู่ในเขตท้องที่อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ได้ถูกประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติภายหลังกรมอาชีวศึกษา (สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา) ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน ท้องที่ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพื่อจัดตั้งวิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต แห่งที่ 2 โดยได้ลงนามในบันทึกรับทราบและรับรองที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขแนบท้ายประกาศกรมป่าไม้ฉบับดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2540 ไว้แล้ว โดยวิทยาลัย ฯ ได้มีการปักเขตทำแนวรั้วลวดหนาม ทั้ง 4 ด้าน เสร็จสิ้นเมื่อเดือนเมษายน 2563 โดยมีการสำรวจการถือครองพื้นที่ของราษฎรในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน พบว่า มีราษฎรที่ถือครองและใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ จำนวน 265 ราย รวม 310 แปลง เนื้อที่ประมาณ 2,698-1-53 ไร่ ทำประโยชน์ด้วยการปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ชนิดต่าง ๆ ซึ่งราษฎรทุกรายได้ถือครองพื้นที่ป่าไม้ภายหลังการประกาศเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งพื้นที่ถูกบุกรุกเป็นป่าสงวนแห่งชาติและสวนป่าที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สภาพเป็น ป่าต้นน้ำ ป่าอุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้ขนาดใหญ่กระจายอยู่เต็มพื้นที่ เช่น ต้นยางทอง นากบุด หลุมพอ ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ยางนา และสะตอ เป็นต้น สามารถมองเห็นภูมิทัศน์โดยรอบได้อย่างชัดเจน เช่น สนามบินนานาชาติภูเก็ต ทะเลฝั่งอันดามัน เป็นต้น
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการบุกรุก ยึดถือ ครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน และที่ดินของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และประมวลกฎหมายที่ดิน ที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน กระทบต่อสภาพแวดล้อมและทรัพยากรสำคัญของชาติ มีความซับซ้อน จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และเป็นไปตามรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดตามที่คณะกรรมการคดีพิเศษประกาศกำหนด ตามประกาศ กคพ.(ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจึงมีคำสั่งให้รับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษ เพื่อสืบสวนสอบสวนและพิสูจน์ความผิดเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป