DSI ส่งสำนวนคดีพิเศษ กลุ่มเครือข่ายเว็บไซต์หนังออนไลน์ละเมิดลิขสิทธิ์รายใหญ่ 5 สำนวน มูลค่าความเสียหายกว่า 8,274 ล้านบาท
เผยแพร่: 28 ก.ย. 2566 16:11 น. ปรับรุง: 28 ก.ย. 2566 16:11 น. เปิดอ่าน 49 ครั้ง สืบเนื่องจากกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนการละเมิดลิขสิทธิ์ทางภาพยนตร์ออนไลน์อย่างต่อเนื่อง พบว่าเว็บไซต์ sakkarinsai8.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์แม่ข่ายสำหรับให้บริการ
เช่าเซิร์ฟเวอร์และทำการปล่อยสัญญาณ (สตรีมมิ่ง) ให้กับเว็บไซต์ Doo4k.tv, Movie2free, bigapp.tv,
และเว็บไซต์อื่น ๆ อีกจำนวนมาก มีการคิดค่าบริการรายเดือนตั้งแต่ 10,000 - 70,000 บาท โดยเว็บไซต์เหล่านั้น
จะเปิดให้บริการดูภาพยนตร์ออนไลน์ ภาพยนตร์ลามกอนาจาร ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจากประเทศอังกฤษ และเปิดให้เช่าเครือข่ายสำหรับการปล่อยสัญญาณ (สตรีมมิ่ง) โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งในหน้าเว็บไซต์จะมีการให้บริการเข้าเล่นพนันฟุตบอลออนไลน์ในเว็บไซต์ด้วย
ปัจจุบันคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสอบสวนและสรุปสำนวนคดีพิเศษแล้วเสร็จ โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดยได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศแล้วจำนวน 5 สำนวน
มีรายละเอียด ดังนี้
1. คดีพิเศษที่ 58/2560 กรณี เว็บไซต์ดูทีวีดอทคอม (www.dootv.com) ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และงานแพร่เสียงแพร่ภาพของบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ผู้ต้องหา
บุคคลธรรมดา 9 ราย ผู้ต้องหานิติบุคคล 3 ราย เอกสารจำนวน 81 แฟ้ม 31,292 แผ่น มูลค่าความเสียหาย จำนวน 2,809,255,221 บาท (ส่งสำนวนเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566)
2. คดีพิเศษที่ 113/2560 กรณี พฤติการณ์ของเว็บไซต์ http://www.Doo4k.tv เข้าข่ายการกระทำความผิดเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์งานโสตทัศนวัสดุและภาพยนตร์ต่างประเทศผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ผู้ต้องหา 7 ราย เอกสารจำนวน 121 แฟ้ม 33,681 แผ่น มูลค่าความเสียหาย จำนวน 120,360,000 บาท (ส่งสำนวนเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566)
3. คดีพิเศษที่ 5/2562 กรณี บุคคลผู้ให้บริการเว็บไซต์ biapp.tv และเว็บไซต์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน กระทำความผิดตามกฎหมายลิขสิทธิ์และกฎหมายคอมพิวเตอร์ ผู้ต้องหา 4 ราย (หลบหนีและได้ออกหมายจับ จำนวน 2 ราย) เอกสารจำนวน 12 แฟ้ม 3,999 แผ่น มูลค่าความเสียหาย จำนวน 31,944,000 บาท (ส่งสำนวนเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566)
4. คดีพิเศษที่ 21/2563 กรณี กลุ่มบุคคลกระทำผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และกฎหมายอื่น
ผ่านเว็บไซต์ sakkarinsai8.com และเว็บไซต์อื่นที่เกี่ยวข้อง ผู้ต้องหา 1 ราย เอกสารจำนวน 7 แฟ้ม 3,537 แผ่น
มูลค่าความเสียหาย จำนวน 794,087,945 บาท (ส่งสำนวนเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566)
5. คดีพิเศษที่ 22/2563 กรณี กลุ่มบุคคลกระทำผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และกฎหมายอื่น ผ่านเว็บไซต์ movie2free และเว็บไซต์อื่นที่เกี่ยวข้อง ผู้ต้องหา 2 ราย เอกสารจำนวน 12 แฟ้ม 4,457 แผ่น มูลค่าความเสียหาย จำนวน 4,518,790,200 บาท (ส่งสำนวนเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566)
รวมทั้ง 5 คดี มีผู้ต้องหาเป็นบุคคลธรรมดา จำนวน 23 คน และผู้ต้องหานิติบุคคล จำนวน 3 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย จำนวน 8,274,437,366 บาท การปราบปรามในคดีพิเศษดังกล่าว ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยที่ส่งผลทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกจัดอันดับอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List : WL) ตามมาตรา 301 พิเศษ หรือ Special 301 Provision of the Trade Act of 1974 บทบัญญัติหนึ่งในกฎหมายการค้าของประเทศสหรัฐอเมริกาว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR) ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์นับเป็นปัญหาใหญ่ ที่ยังคงมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดผลกระทบในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมากต่อประเทศไทย
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอแจ้งมายังประชาชน หากพบบุคคล ไม่ว่าบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่มีพฤติกรรมละเมิดลิขสิทธิ์ สามารถแจ้งข้อมูล/เบาะแสได้ที่เว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ www.dsi.go.th หรือ สายด่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ โทร.1202