DSI จับกุมแอดมินพนันออนไลน์ เครือข่ายเจ้าของร้านหอยชื่อดัง ได้อีก 1 ราย

เผยแพร่: 5 ก.พ. 2568 13:26 น. ปรับปรุง: 5 ก.พ. 2568 13:26 น. เปิดอ่าน 23 ครั้ง  
 


    ตามที่ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ กองคดียาเสพติด กรมสอบสวนคดีพิเศษทำการสืบสวนสอบสวน และดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันเป็นขบวนการจัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์ผ่านเว็บพนันออนไลน์โดยมีตัวการเป็นเจ้าของร้านอาหารในชื่อหอยจ๋าซึ่งเป็นร้านดังในเขตกรุงเทพฯ และมีเงินหมุนเวียนในบัญชีและวงพนันออนไลน์กว่า 500 ล้านบาท มีกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่ในการชักชวนให้ผู้อื่นเข้ามาเล่นพนันออนไลน์ และขบวนการในการช่วยเหลือการจำหน่ายจ่ายโอนและเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สิน ที่ได้จากเว็บพนันออนไลน์เพื่อให้ยากต่อการติดตามและหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐโดยใช้บัญชีธนาคารพาณิชย์ของตนเองเป็นบัญชีพักเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดจำนวนมากกว่า 40 ราย(คดีพิเศษที่ 5/2566) และคดีดังกล่าวได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ไปก่อนหน้าแล้ว

     วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 เวลาประมาณ 10.00 น. ชุดปฏิบัติการที่ 3 ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว ภายใต้การอำนวยการของ นายวิทวัส สุคันธรส ผู้อำนวยการศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว ได้จับกุม นายกิตติชัย (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ จ.2591/2566 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ซึ่งทำหน้าที่เป็นแอดมินเว็บพนันออนไลน์ดังกล่าว ถูกกล่าวหาว่า “ร่วมกันจัดให้มีการเล่นพนันเอาทรัพย์สินกันทางอิเล็กทรอนิกส์ (พนันออนไลน์) โดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันฟอกเงิน” โดยจับกุมได้ที่บริเวณบ้านในแขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พร้อมนำตัวส่งให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดียาเสพติด ผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

     ทั้งนี้ การดำเนินคดีเพื่อปราบปรามการพนันออนไลน์ เป็นนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่มอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการปราบปรามการพนันออนไลน์ร่วมกับภาคีเครือข่าย   ภาครัฐและเอกชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ปปง. และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้มีการดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง และในขณะเดียวกันในการจับกุมผู้ต้องหาก็ต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการสอบสวนคดีพิเศษและให้เป็นที่เชื่อถือ ศรัทธาของสังคมในการป้องกันปราบปรามสืบสวนสอบสวนคดีในความรับผิดชอบ เพื่อให้การบริหารองค์การมีความยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลต่อไป


เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ