“ดีเอสไอ” แจง ปมเจ้าหน้าที่ร้องขอความเป็นธรรม การสอบเลื่อนตำแหน่ง พบ ผู้ร้องสอบตกข้อเขียน คะแนนต่ำกว่าร้อยละ 60 ชี้การสอบโปร่งใส-เป็นธรรม มีหน่วยงานนอก ม.สวนดุสิต เป็นผู้ออกข้อสอบ-ตรวจคะแนน มั่นใจ ตรวจสอบเบื้องต้น ไม่พบผิดปกติ เผยมีตำแหน่งว่าง 107 อัตรา สอบผ่านเพียง 87 คน
เผยแพร่: 29 ธ.ค. 2565 8:27 น. ปรับรุง: 29 ธ.ค. 2565 16:31 น. เปิดอ่าน 1176 ครั้ง“ดีเอสไอ” แจง ปมเจ้าหน้าที่ร้องขอความเป็นธรรม การสอบเลื่อนตำแหน่ง พบ ผู้ร้องสอบตกข้อเขียน คะแนนต่ำกว่าร้อยละ 60 ชี้การสอบโปร่งใส-เป็นธรรม มีหน่วยงานนอก ม.สวนดุสิต เป็นผู้ออกข้อสอบ-ตรวจคะแนน มั่นใจ ตรวจสอบเบื้องต้น ไม่พบผิดปกติ เผยมีตำแหน่งว่าง 107 อัตรา สอบผ่านเพียง 87 คน
วันที่ 29 ธันวาคม 2565 นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชี้แจงถึงกรณี มีเจ้าหน้าที่ร้องขอความเป็นธรรม เรื่อง การสอบเลื่อนตำแหน่งไม่เป็นธรรมว่า การจัดสอบคัดเลือก เพื่อเลื่อนระดับและย้ายเปลี่ยนสายงานในกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประจำปี 2565 อ.ก.พ.กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีมติ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 ให้จ้างหน่วยงานภายนอกที่มีมาตรฐานและมีความเป็นมืออาชีพ ในการจัดสอบแข่งขัน ซึ่งได้จัดจ้างมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งการออกข้อสอบและตรวจคะแนนทั้งหมด ก่อนส่งผลสอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยเป็นไปตามมาตรฐานการสอบของมหาวิทยาลัย ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบเอง เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อสอบ
นายไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า ข้าราชการรายดังกล่าวที่ร้องขอความเป็นธรรม จากการตรวจสอบพบว่าเป็นผู้สมัครสอบเข้ารับการคัดเลือก เพื่อเลื่อนขึ้นให้ดำรงตำแหน่ง พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ ในกลุ่มที่ 2 สายงานสนับสนุน โดยผลคะแนนการสอบข้อเขียน พบว่า ไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งได้ต่ำกว่า ร้อยละ 60 ทำให้ไม่ผ่านการคัดเลือก โดยเกณฑ์การคัดเลือก จะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ผลงานและประวัติการรับราชการ 50 คะแนน ต้องได้ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 75 ส่วนที่ 2 การสอบข้อเขียน 40 คะแนน ต้องได้ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 60 และส่วนที่ 3 การสอบสัมภาษณ์ 10 คะแนน ต้องได้ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 60
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวต่อว่า ในกรณีนี้ ผู้ร้องขอความเป็นธรรม สามารถขอดูคะแนนการสอบและธงคำตอบของตนเองได้ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งผู้ร้องได้มีหนังสือขอข้อมูลข่าวสารของทางราชการ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอดังกล่าว ส่วนคำร้องที่ได้ยื่นต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถือเป็นการใช้สิทธิร้องทุกข์ตามกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเมื่อได้รับเรื่องร้องทุกข์แล้ว ก็ได้จัดส่งเรื่อง ร้องทุกข์พร้อมคำชี้แจง ไปยังปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ และได้มีหนังสือแจ้งผู้ร้อง ให้ทราบการดำเนินการ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 แล้ว
นายไตรยฤทธิ์ กล่าวอีกว่า การสอบคัดเลือกข้าราชการในครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 4 ประเภท แบ่งออกเป็น 8 กลุ่มตำแหน่ง ทั้งสายงานคดีและสายงานสนับสนุน โดยมีตำแหน่งว่างที่เปิดสอบ 107 อัตรา มีจำนวน ผู้มีสิทธิ์สอบรวม ทั้งสิ้น 391 คน มีผู้ผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพียง 87 คน และยังมีตำแหน่งว่างคงเหลือจากการสอบครั้งนี้ อีก 20 อัตรา ที่ต้องดำเนินการคัดเลือกในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกอีกเป็นจำนวนมาก โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอยืนยันว่าการดำเนินการ จัดสอบในครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรฐาน โปร่งใส และเป็นธรรม แต่เพื่อให้การตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ครบถ้วนในทุกประเด็น ก็ได้มีข้อสั่งการให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นมีข้อสอบรั่วตามที่ กล่าวอ้างหรือไม่ แต่จากที่ตรวจสอบเบื้องต้น ยังไม่พบความผิดปกติ เพราะมีการจ้างหน่วยงานภายนอก เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ทั้งนี้ หากทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ พบว่ามีผู้กระทำความผิดจะเสนอให้มีการพิจารณาลงโทษโดยเด็ดขาด