ดีเอสไอ จับมือ ก.ล.ต. เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

เผยแพร่: 10 พ.ย. 2564 9:05 น. ปรับรุง: 8 ก.พ. 2565 15:42 น. เปิดอ่าน 1754 ครั้ง   EN
 

ดีเอสไอ จับมือ ก.ล.ต. เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

         เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ที่อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ  นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พร้อมด้วย นายศักรินทร์ ร่วมรังษี รองเลขาธิการฯ นายเอนก อยู่ยืน ผู้ช่วยเลขาธิการฯ นางวิไลลักษณ์ เจนอนันต์พร ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบตลาดทุน 2 นางพัฒนพร ไตรพิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบตลาดทุน 1 และนายสุเมธ วิเชียรชัย ผู้อำนวยการฝ่ายคดี เข้าพบ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อแสดงความยินดี
ในโอกาสได้รับตำแหน่ง และร่วมประชุมหารือถึงแนวทางทำงานร่วมกัน โดยมี พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ ร้อยตำรวจเอก สุขวัฒน์ เทพแปง รองผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน นายธีรศักดิ์  มาตาเดิม ผู้อำนวยการศูนย์สืบสวน ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินและการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และนายพัลลภ เกิดเทพ ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศ ร่วมประชุมหารือถึงการบูรณาการการทำงานเชิงรุกในการป้องกันปราบปรามการแลกเปลี่ยนข้อมูล และองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวโน้มการกระทำความผิดเกี่ยวกับตลาดทุนในปัจจุบัน  
         สืบเนื่องจาก ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 โดยได้ปฏิบัติงานร่วมกันในเรื่องหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขาย การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตัล ฯลฯ ที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ตลอดจนการฉ้อโกงประชาชน อาชญากรรมข้ามขาติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการพัฒนาการทำงานตาม MOU ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงได้ประชุม โดยมีข้อหารือดังนี้
        1) แนวทางการบูรณาการการทำงานร่วมกันภายใต้บันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เกี่ยวกับการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปราม บังคับใช้กฎหมายในคดีการกระทำความผิดในตลาดทุนที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
ที่มีผลกระทบต่อสังคมและประชาชนจำนวนมาก
        2) พิจารณาเพิ่มพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ในบัญชีท้ายประกาศ กคพ. ออกตามความในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
        3) ร่วมมือกันในการพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญของบุคลากรทั้งสองหน่วยงาน ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะให้สถาบันการสอบสวนคดีพิเศษเป็นหน่วยงานสนับสนุนการจัดหลักสูตร จัดหาวิทยากร และใช้สถานที่ในการดำเนินการ
    4) เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเชิงรุกเพื่อเป็นการป้องกันและเฝ้าระวัง โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษขอบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ กับสำนักงาน ก.ล.ต. ในเรื่อง AI-Enforcement, Corporate Surveillance และ E-Link ซึ่งจะได้หารือวิธีการเชื่อมโยงข้อมูลต่อไป
       5) สำนักงาน ก.ล.ต. มีนโยบายในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเฝ้าระวังป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับตลาดทุน และอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางในการตั้งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อบูรณาการการทำงานเชิงรุกและป้องกันการกระทำความผิดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ