ผู้อำนวยการกองคดีค้ามนุษย์ DSI เข้าร่วมการประชุมและบรรยายพิเศษเกี่ยวกับหลักการไม่ลงโทษผู้เสียหายมาปรับใช้ในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในที่ประชุมอาเซียนและองค์กรภาคี ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

เผยแพร่: 18 มิ.ย. 2567 12:45 น. ปรับรุง: 18 มิ.ย. 2567 12:47 น. เปิดอ่าน 157 ครั้ง  
 

ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ DSI เข้าร่วมการประชุมและบรรยายพิเศษเกี่ยวกับ
หลักการไม่ลงโทษกับผู้เสียหายมาปรับใช้ในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในที่ประชุมอาเซียนและองค์กรภาคี ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย



   

        วันที่ 11 - 12 มิถุนายน 2567 ภายใต้ข้อสั่งการของ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มอบหมายให้พันตำรวจตรี สิริวิชญ์ ชาญเตชะสิทธิ์กุล ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ เดินทางไปเข้าร่วมการประชุม ASEAN Consultation on Best Practices and Challenges in Implementing Non Punishments Principle in the Anti-Trafficking in Persons (TIP) Laws, Policies and Practices (การประชุมอาเซียนว่าด้วยแนวทางปฏิบัติที่ดีและความท้าทายในการนำหลักการไม่ลงโทษมาปรับใช้ในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ตลอดจนแนวนโยบายและแนวปฏิบัติ) ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตามคำเชิญของสำนักงานคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights หรือ AICHR) โดยมีวัตถุประสงค์หลักของการประชุม คือ การส่งเสริมให้มีเวทีในการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติในการดำเนินการตามหลักการไม่ลงโทษในบริบทของการค้ามนุษย์สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในรัฐภาคีอาเซียน และการส่งเสริมศักยภาพในการดำเนินการตามหลักการไม่ลงโทษในกรณีการค้ามนุษย์ โดยประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐภาคีและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน จำนวนกว่า 20 ประเทศ/หน่วยงาน 

             ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย โดยโครงการอาเซียน - ออสเตรเลีย เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ (ASEAN–Australia Counter Trafficking หรือ ASEAN-ACT) เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมการประชุมฯ ในโอกาสดังกล่าวนี้ ที่ประชุมยังได้ให้เกียรติเรียนเชิญ ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ บรรยายพิเศษให้แก่ที่ประชุมในฐานะตัวแทนประเทศไทย ในหัวข้อ Protecting victims of trafficking from punishment: Challenges in identifying trafficking victims during rescues and investigations หรือ “การคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จากการถูกลงโทษ : ความท้าทายในการระบุตัวผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในระหว่างการช่วยเหลือและการสืบสวนสอบสวน” ซึ่งเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการนำหลักการไม่ลงโทษมาปรับใช้ในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งกองคดีการค้ามนุษย์ ได้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานมาโดยตลอด ส่งผลให้เป็นภาพลักษณ์และภาพจำที่ดีของกองคดีการค้ามนุษย์ในเวทีหรือเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ