DSI นำตัวผู้ต้องหาแชร์ลูกโซ่ “ปลูกหม่อนแก้จน” มูลค่าความเสียหายกว่า 24 ล้านบาท ส่งพนักงานอัยการดำเนินการตามกฎหมาย

เผยแพร่: 11 ต.ค. 2567 16:37 น. ปรับรุง: 11 ต.ค. 2567 16:44 น. เปิดอ่าน 971 ครั้ง  
 

DSI นำตัวผู้ต้องหาแชร์ลูกโซ่ “ปลูกหม่อนแก้จน” มูลค่าความเสียหายกว่า 24 ล้านบาท ส่งพนักงานอัยการดำเนินการตามกฎหมาย




​          วานนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2567) พนักงานสอบสวนคดีพิเศษกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ  กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้นำตัว นางสกลภัทร (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาที่ 11 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันฉ้อโกงประชาชน อันเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และประมวลกฎหมายอาญา ไปยังสำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีพิเศษ 4 สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

​          กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่ 13/2561 กรณี บริษัท ภูน้ำลำชี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กับพวกรวม 12 คน ได้กระทำความผิด โดยทุจริตร่วมกันหลอกลวง โดยประกาศโฆษณาต่อประชาชนทั่วไปหรือบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ผู้ต้องหากับพวกมีกิจการรับประชาชนทั่วไปให้เข้าร่วมลงทุนหรือให้กู้ยืมเงินกับ บริษัท ภูน้ำลำชี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด โดยกำหนดแผนการลงทุนในโครงการที่ 1 ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ หรือโครงการปลูกหม่อนแก้จน หรือ ซื้อวัว คือ การรับฝากเงินลงทุนซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ซึ่งมีตำแหน่งให้เลือกลงทุน 4 แพ็คเกจ ซึ่งผู้สนใจต้องลงทุนขั้นต่ำในตำแหน่ง S เงินลงทุน 1,000 usd. (เหรียญสหรัฐ) เท่ากับ 38,000 บาท โดยจะได้รับเงินปันผล 6,426 บาท ทุก 15 วัน จำนวน 20 ครั้ง รวมเป็นเงิน 128,520 บาท และโครงการที่ 2 ปลูกหม่อนมัลเบอร์รี่ คือ การลงทุนปลูกหม่อนมัลเบอร์รี่ สามารถสมัครเป็นสมาชิกได้โดยการลงทะเบียนปลูกในตำแหน่งต่าง ๆ ได้ 4 แพ็คเกจ ซึ่งลงทุนขั้นต่ำที่ ตำแหน่ง M1 เงินลงทุน 4,000 บาท ได้รับต้นหม่อนจำนวน 50 ต้น และจะได้ค่าแนะนำ มีการแนะนำสมาชิกมาลงทุนได้ ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาเข้าร่วมลงทุนกับผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ตกลง ทำให้มีผู้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวน 200 คน รวมมูลค่าความเสียหายจำนวน 24,766,173.16 บาท ในความผิดฐาน ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันฉ้อโกงประชาชน อันเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และประมวลกฎหมายอาญา การสอบสวนเสร็จสิ้นและส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าวไปยังพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษแล้ว เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ