ดีเอสไอ รับคดีอาหารเสริมอ้างสรรพคุณเกินจริง เป็นคดีพิเศษ
เผยแพร่: 7 ก.ค. 2563 12:58 น. ปรับรุง: 7 ก.ค. 2563 12:58 น. เปิดอ่าน 7546 ครั้งดีเอสไอ รับคดีอาหารเสริมอ้างสรรพคุณเกินจริง เป็นคดีพิเศษ
ด้วยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่องผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ที่มีพฤติการณ์ โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณอาหารเสริมเกินจริง โดยอ้างสรรพคุณ เพื่อรักษาโรคต้อเนื้อต้อกระจกมีการนำภาพจักษุแพทย์ และบทความจักษุแพทย์ไปใช้ในการประกอบโฆษณา โดยแพทย์ท่านนั้นไม่ทราบ ต่อเมื่อมีการทักท้วง จึงลบภาพออกทันที พฤติการณ์ดังกล่าว ทำให้ประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อ ต้องสูญเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ และที่สำคัญขาดโอกาสในการรักษาอย่างถูกต้อง
จากกรณีดังกล่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ได้รับเรื่องไว้สืบสวน และขอรับความเห็นจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ในรายละเอียด ผลปรากฏข้อมูลทางวิชาการว่าในปัจจุบันไม่มีผลิตภัณฑ์ชนิดใดสามารถรักษาโรคทางตาตามสรรพคุณที่กล่าวอ้างในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับดวงตาของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวซึ่งระบุในภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย 1. สารอาหารเบต้ากลูแคน 2. สารสกัดบิวเบอร์รี่ 3. กรดแอสคอร์บิก 4. สารสกัดจากแคนเบอร์รี่ 5. สารสกัดจากดอกดาวเรือง 6. วิตามินบี 12 พบว่าไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่รับรองว่ามีผลในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับตาตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด และเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ผู้แทนราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ผู้แทนแพทยสภา ผู้แทนสำนักงาน กสทช. ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีพันตำรวจเอก อัครพล บุณโยปัษฎัมภ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานการประชุม สรุปว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้จดแจ้งเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแต่กลับโฆษณาสรรพคุณไปในทางที่มีลักษณะเป็นยาสามารถรักษาโรคได้ทั้งที่ข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่านอกจากจะไม่สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการตามกล่าวอ้างแล้ว การโฆษณาในภาพรวม ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ยังแพร่กระจายไปสู่ประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งหากมีอาการป่วยและหลงเชื่อ นอกจากจะทำให้เสียค่าใช้จ่าย โดยไม่จำเป็นแล้ว ยังทำให้ขาดโอกาสในการเข้ารับการรักษา ซึ่งดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย หากขาดการรักษา จนเป็นเหตุให้ตาบอดหรือสูญเสียดวงตา จะส่งผลกระทบโดยตรง ต่อการดำรงชีวิตและการประกอบหน้าที่การงาน และจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมากและต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสาธารณสุขของประเทศ และบั่นทอนกำลังการพัฒนาประเทศทางอ้อมตลอดจนจนส่งผลกระทบงบประมาณสาธารณสุขในภาพรวม โดยทุกหน่วยงานพร้อมสนับสนุนและบูรณาการ หากกรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีดังกล่าว ไว้เป็นคดีพิเศษ
จากกรณีดังกล่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์การโฆษณาผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร ในลักษณะอวดอ้างว่ามีสรรพคุณเป็นยาใช้ป้องกันหรือรักษาโรคได้ผ่านทางเว็บไซต์หรือเฟสบุ๊ค ทั้งที่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและหลักฐานทางวิชาการรับรองอันเป็นข้อความที่เป็นเท็จ จึงเข้าข่ายเป็นการทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 14 (1) และมีพฤติการณ์กระทำผิดที่อาจส่งผลกระทบต่อ การสาธารณสุขในวงกว้าง ดังที่ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีอำนาจสืบสวนสอบสวน พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 ให้รับคดีดังกล่าวไว้ดำเนินการสืบสวนและสอบสวน ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 นอกจากนั้น การกระทำดังกล่าวก็อาจเป็นความผิดตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 ที่กำหนดมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร และความผิดอื่นๆ ซึ่งหาก สอบสวนพบการกระทำความผิดก็จะดำเนินคดีไปในคราวเดียวกัน
กรมสอบสวนคดีพิเศษมีความมุ่งมั่นในการสืบสวน สอบสวน ป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ โดยเฉพาะการหลอกลวงประชาชน ทั้งนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษฝากเตือนไปยังประชาชน อย่าหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อตามช่องทางต่างๆ และขอให้ตรวจสอบความเป็นมาของบริษัทและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้รอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อมาบริโภค และหากประชาชนมีข้อมูลหรือเบาะแส สามารถแจ้งมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ที่สายด่วน DSI Call Center 1202 (โทรฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเก็บรักษาข้อมูล ผู้แจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับ
*******************************