ดีเอสไอ แจงปมจัดซื้อเครื่องด๊อง (ชุดเครื่องมือค้นหาโทรศัพท์เคลื่อนที่ระยะใกล้) ไม่มีการฮั้ว โปร่งใส ตรวจสอบได้
เผยแพร่: 13 ม.ค. 2566 12:46 น. ปรับรุง: 13 ม.ค. 2566 12:46 น. เปิดอ่าน 1916 ครั้งดีเอสไอ แจงปมจัดซื้อเครื่องด๊อง (ชุดเครื่องมือค้นหาโทรศัพท์เคลื่อนที่ระยะใกล้) ไม่มีการฮั้ว โปร่งใส ตรวจสอบได้
“ดีเอสไอ” แจงปมจัดซื้อเครื่องด๊อง (ชุดเครื่องมือค้นหาโทรศัพท์เคลื่อนที่ระยะใกล้) เป็นไปตามระเบียบถูกต้อง ไม่มีการฮั้วตามที่กล่าวอ้าง ชี้ผู้เสนอราคาไม่มีการร้องเรียน เผยทุกหน่วยงานจัดซื้อด้วยวิธีคัดเลือก เพื่อทดสอบเครื่องตามขอบเขต
ของงานจ้าง (TOR) ที่กำหนด โชว์ผลงานช่วยสืบสวน 15 คดี มูลค่าเสียหาย 1,000 ล้านบาท
วันที่ 13 มกราคม 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ชี้แจง ถึงกรณีถูกร้องเรียนว่ามีการฮั้วจัดซื้อเครื่องด๊อง หรือ ชุดเครื่องมือค้นหาโทรศัพท์เคลื่อนที่ระยะใกล้ ที่ใช้วิธีการไม่ถูกต้อง โดยมีมูลค่าหลักร้อยล้านบาทนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอเรียนข้อเท็จจริงว่า การจัดซื้อเครื่องมือพิเศษ ชนิดค้นหาโทรศัพท์ระยะใกล้ ทั้งปีงบประมาณ 2564 และ 2565 ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว เป็นผู้เสนอโครงการ เพื่อนำมาใช้ในการสืบสวนสอบสวน โดยมีการจัดซื้อจำนวน 2 โครงการ คือ ในปีงบประมาณ 2564 มูลค่า 36,700,000 บาท (สามสิบหกล้านเจ็ดแสนบาทถ้วน) ประกาศเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 และในปีงบประมาณ 2565 มูลค่า 35,800,000 บาท (สามสิบห้าล้านแปดแสนบาทถ้วน) ทำสัญญาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 รวมมูลค่า 72,500,000 บาท (เจ็ดสิบสองล้านห้าแสนบาทถ้วน) ซึ่งไม่ได้มีการจัดซื้อมูลค่าหลักร้อยล้านบาท ตามที่มีการร้องเรียนแต่อย่างใด และเครื่องมือชนิดพิเศษนี้ ปัจจุบันสามารถนำมาใช้ในการสืบสวนจับกุม พร้อมสนับสนุนกองคดี ไม่น้อยกว่า 15 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท (หนึ่งพันล้านบาทถ้วน)
ส่วนการจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ใช้ในราชการลับ ตาม มาตรา 56 (1) (ฉ) พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งการอนุมัติให้จัดซื้อโดยวิธีคัดเลือกเป็นไปตามข้อเสนอของศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว และเห็นชอบโดยมติที่ประชุมคณะกรรมการเร่งรัดและจัดการพัสดุ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทั้งสองปีงบประมาณ ซึ่งการคัดเลือกโดยใช้วิธีการทดสอบนั้น ผู้เสนอราคาต้องนำเครื่องมือมาทดสอบตามขอบเขตของงานจ้าง (TOR) ที่กำหนด เพื่อพิสูจน์ว่าใช้งานได้และมีการแข่งขันกัน เพราะมีการเชิญผู้เสนอราคาของทั้งสองปีงบประมาณ จำนวน 5 - 6 ราย รวมถึงการแข่งขันทดสอบเครื่อง และมีผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องมือพิเศษ ที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐอื่นเป็นกรรมการภายนอกร่วมเป็นกรรมการจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือกด้วย
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอยืนยันว่า การจัดซื้อเครื่องมือพิเศษชุดเครื่องมือค้นหาโทรศัพท์เคลื่อนที่ระยะใกล้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดอย่างเคร่งครัด ด้วยความสุจริต และโปร่งใส ภายใต้กระบวนการที่มีประสิทธิภาพ เพราะการจัดซื้อ ผู้เสนอราคาไม่มีการร้องเรียน ทั้งสองปีงบประมาณ รวมถึงทุกหน่วยงานที่จัดซื้อเครื่องมือนี้ ก็ใช้วิธีการคัดเลือกเช่นเดียวกัน ดังนั้น การจัดซื้อครั้งนี้ จึงเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ไม่มีการฮั้วตามที่มีผู้ร้องเรียนกล่าวอ้าง และแถลงข่าวข้อมูลอันเป็นเท็จ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องด๊องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีการจัดเจ้าหน้าที่มาทดสอบการใช้งานด้วยตนเอง พบว่าสามารถใช้งานได้ตามที่กำหนด ไม่มีข้อท้วงติงเรื่องวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง