DSI ชี้แจงเร่งรัดดำเนินคดีหมูเถื่อนต่อเนื่อง ขอความร่วมมือหน่วยงานตรวจปล่อยเข้มงวดกระบวนการนำเข้า ป้องกันปัญหาในอนาคต

เผยแพร่: 28 มิ.ย. 2567 9:03 น. ปรับปรุง: 28 มิ.ย. 2567 9:04 น. เปิดอ่าน 463 ครั้ง  
 

                จากข้อห่วงใยของสาธารณชนผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินคดีขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรแปรรูป เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายเกรงว่าคดีจะมีความล่าช้าเนื่องจากมีการส่งสำนวนการสอบสวนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งสำนักงานอัยการสูงสุด และประสงค์จะให้คดีเข้าสู่กระบวนการโดยเร็วที่สุดนั้น

                กรมสอบสวนคดีพิเศษขอชี้แจงว่ากรมมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่สืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในเรื่องดังกล่าว อย่างเต็มความสามารถ ซึ่งในการดำเนินคดีได้แบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในกระบวนการอนุมัติหรืออนุญาตให้นำเข้าเนื้อสุกรมาโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรมสอบสวนคดีพิเศษจำเป็นต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ไม่อาจแทรกแซงได้ และส่วนที่เป็นเอกชน ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ

               ในส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ  รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับนโยบายจาก พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวในการขับเคลื่อนคดีให้รวดเร็ว และเป็นไปตามกฎหมาย โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้แบ่งคดีออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นคดีที่ตรวจพบตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นของตกค้างระหว่างกระบวนการขั้นตอนการนำเข้าสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร และกลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่พบหลักฐานการนำเข้าและจำหน่ายไปยังผู้บริโภคแล้ว โดยคดีทั้งสองกลุ่ม มีจำนวน 11 คดี ได้มีการประชุมเร่งรัดการสอบสวนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเร่งรัดกระบวนการขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่อยู่ในต่างประเทศผ่านช่องทางกฎหมาย คือสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นเนื่องจากหากได้พยานหลักฐานมาโดยมิชอบด้วยกฎหมายย่อมเป็นเหตุให้ศาลไม่รับฟังพยานหลักฐาน ล่าสุดได้มีการประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่27 มิถุนายน 2567 เพื่อติดตามความคืบหน้าคดีและพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับการขอความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา จึงมิใช่เป็นกรณีการประวิงการดำเนินคดีดังที่สาธารณชนมีข้อกังวล

                อย่างไรก็ตาม กระบวนการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษในเรื่องนี้ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายหลังที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว ประการสำคัญ คือการป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำสินค้าดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายและข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงขอความร่วมมือหน่วยงานตรวจปล่อยเข้มงวดกระบวนการนำสินค้าประเภทเนื้อสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต และเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน


เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ