DSI นำตัวนายสามารถฯ และแม่ ฝากขังศาลอาญา – พบพฤติการณ์ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน คดีร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ดิไอคอนกรุ๊ป
เผยแพร่: 26 พ.ย. 2567 14:01 น. ปรับปรุง: 26 พ.ย. 2567 14:06 น. เปิดอ่าน 633 ครั้งDSI นำตัวนายสามารถฯ และแม่ ฝากขังศาลอาญา – พบพฤติการณ์ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน คดีร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ดิไอคอนกรุ๊ป
ตามที่ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้กองคดีการฟอกเงินทางอาญา กรมสอบสวนคดีพิเศษทำการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีการกระทำความผิดการฟอกเงินทางอาญากรณีเกี่ยวกับบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด มีการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน อันเป็นความผิดมูลฐานฟอกเงินเป็นคดีพิเศษที่ 115/25672567 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 นายระวี อักษรศิริ ผู้อำนวยการกองคดีการฟอกเงินทางอาญา ตามมติของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขออนุมัติหมายจับ นายสามารถ (สงวนนามสกุล) นางวิลาวัลย์ (สงวนนามสกุล) และนายวรัตน์พล (สงวนนามสกุล) หรือบอสพอล ในข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน
วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2567) เวลาประมาณ 16.20 น. ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าวภายใต้การอำนวยการของ นายวิทวัส สุคันธรส ผู้อำนวยการศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว โดยชุดปฏิบัติการที่ 3 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 5 จับกุมนายสามารถ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 5682/2567 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ในคดีพิเศษที่ 115/2567 ซึ่งจากการสืบสวนปรากฏพยานหลักฐานว่าบัญชีเงินฝากธนาคารของนางวิลาวัลย์ฯ ซึ่งเป็นมารดาของนายสามารถฯ มีการโอนเงินมาจากหลายแหล่งเข้ามาในบัญชีเงินฝากธนาคารประมาณกว่า 100 ล้านบาทซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นการรับโอนเงินจากนายวรัตน์พลฯ หรือบอสพอล จำนวน 2.5 ล้านบาทและจากนายณัญปพนต์ หรือ กลด (สงวนนามสกุล) หรือบอสปีเตอร์ ประมาณ 5 แสนบาท พนักงานสอบสวนคดีพิเศษสอบสวนทราบว่า นายสามารถฯ เป็นผู้ใช้บัญชีเงินฝากธนาคารดังกล่าว และยังมีการทำธุรกรรมในการโอนเงินไปยังบัญชีนายสามารถ จำนวน 33 ครั้งประกอบกับพยานหลักฐานอื่นเชื่อว่าผู้ต้องหารู้หรือควรรู้ว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดแชร์ลูกโซ่ พฤติการณ์จึงเป็นการโอน รับโอนทรัพย์สินจากคดีความผิดมูลฐานซึ่งผิดกฎหมาย จึงถูกกล่าวหาในข้อหา “ร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน” ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยเจ้าหน้าที่ร่วมกันจับกุมได้บริเวณวัดแห่งหนึ่งในตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย และนำตัวผู้ต้องหาเดินทางมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษกลางดึกวันเดียวกัน เพื่อส่งมอบให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินการตามกฎหมายต่อไป จากการสอบสวนนายสามารถฯ และนางวิลาวัลย์ฯ ให้การปฏิเสธ โดยจะขอให้การเป็นเอกสารภายใน 15 วันโดยผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน แต่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้พิจารณาแล้วเห็นว่าจากพยานหลักฐานที่ได้จากการตรวจค้นในบ้านพัก ผู้ต้องหามีพฤติการณ์ร่วมกันกับบุคคลอื่นในการจัดทำเอกสารไม่สุจริตอันมีลักษณะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานและเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน จึงมีมติไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยในช่วงบ่ายของวันนี้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีการฟอกเงินทางอาญาจะนำผู้ต้องหาทั้งสองไปขออำนาจศาลอาญาฝากขัง
ทั้งนี้ การดำเนินการสอบสวนคดีพิเศษให้มีความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม เป็นนโยบายหลักประการสำคัญของ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการสอบสวนคดีพิเศษและให้เป็นที่เชื่อถือ ศรัทธาของสังคมในการป้องกันปราบปราม สืบสวนสอบสวนคดีในความรับผิดชอบ เพื่อให้การบริหารองค์การมีความยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลต่อไป