อธิบดีดีเอสไอ ประชุมติดตามการทำงานของคณะอนุกรรมการติดตามและตรวจสอบ กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ผ่านระบบ Cisco Webex Meeting ครั้งที่ 1/2564
เผยแพร่: 18 พ.ค. 2564 19:34 น. ปรับรุง: 10 มิ.ย. 2564 14:10 น. เปิดอ่าน 2654 ครั้ง ENอธิบดีดีเอสไอ ประชุมติดตามการทำงานของคณะอนุกรรมการติดตามและตรวจสอบ กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ผ่านระบบ Cisco Webex Meeting ครั้งที่ 1/2564
วันนี้ (วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม 2564) พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานจัดประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและตรวจสอบกรณีถูกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบ Cisco Webex Meeting โดยมีผู้แทนจาก 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม
พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อติดตามผลการดำเนินการที่คณะอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 – ต้นปี พ.ศ. 2564 ที่ประชุมแจ้งผลการดำเนินการติดตามบุคคลสูญหาย ตามบัญชีรายชื่อของ UN WGEID (คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance - WGEID) จำนวน 87 ราย ซึ่งเป็นการสูญหายจากหลายเหตุการณ์ เช่น กรณีเหตุการณ์ “ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้” กรณี "นักปกป้องสิทธิ" หรือ "กรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง พฤษภาคม 2535" เป็นต้น โดยได้มีการรายงานผลการดำเนินการเบื้องต้นให้ทางผู้แทนขององค์การสหประชาชาติ UN ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ทราบ
สำหรับการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการลงพื้นที่พบปะญาติผู้สูญหายเพื่อขอข้อมูลร่วมกับผู้แทนของOHCHR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights) หน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผู้นำท้องถิ่น และองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อขจัดข้อห่วงกังวลให้กับญาติผู้สูญหาย ถือเป็นการทำงานเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อที่จะทำให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ไปใช้ในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่าเจ้าหน้าที่ของ OHCHR ที่ร่วมทำงานด้วย มีความพอใจ และได้ชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ได้นำแนวทางการหารือในการทำงานร่วมกันไปใช้ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริง โปร่งใสในการปฏิบัติงาน โดย OHCHR ได้มีข้อแนะนำในการดำเนินการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จะนำไปใช้ในการลงพื้นที่ครั้งต่อๆ ไป
สำหรับ กรณีที่มีการร้องเรียนให้คณะอนุกรรมการคัดกรองกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญที่เหตุการณ์เกิดนอกราชอาณาจักร ดำเนินการสืบสวน มีจำนวน 3 ราย ได้แก่
1. นายสยาม ธีรวุฒิ เลขสืบสวนที่ 12/2564 (บุคคลที่เป็นข่าวว่าถูกจับที่ประเทศเวียดนาม และหายไปในระหว่างการส่งตัวกลับประเทศไทย)
2. นายวันเฉลิม ศักดิ์สัตย์สิทธิ์ เลขสืบสวนที่ 13/2564 (มีการแจ้งหายขณะที่พำนักอยู่
ในประเทศกัมพูชา)
3. นายสุรชัย แซ่ด่าน หรือ ด่านวัฒนานุสรณ์ เลขสืบสวนที่ 45/2564 (หายไปในขณะพำนักอยู่ในประเทศลาว)
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ มีมติมอบหมายให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ รวมถึงมีการประสานความร่วมมือในการขอเอกสารจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาต่อไป
************************************************
ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2564