รมว.ยุติธรรม ให้การต้อนรับ ครอบครัว นางสาวโทโมโกะ คาวาชิตะ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและติดตามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของบุตรสาว
เผยแพร่: 16 ก.พ. 2567 14:29 น. ปรับรุง: 4 เม.ย. 2567 11:01 น. เปิดอ่าน 26 ครั้ง ENในวันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุม 10-01 อาคารกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองคดีความมั่นคง ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้แทนกองกฎหมาย และผู้แทนกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ให้การต้อนรับนายยาสุอากิ และนางเอโกะ คาวาชิตะ (Mr. Yasuaki Mrs. Eiko KAWASHITA) บิดาและมารดาของนางสาวโทโมโกะคาวาชิตะ พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและติดตามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของบุตรสาว ซึ่งถูกฆาตกรรม เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2550 ณ จังหวัดสุโขทัย
โดยนายยาสุอากิ และคณะ ได้สอบถามเกี่ยวกับความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนคดีการเสียชีวิต ของบุตรสาว ซึ่งนายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองคดีความมั่นคง ได้ชี้แจงเกี่ยวกับกระบวนสืบสวนสอบสวนว่าเดิมคดีดังกล่าวทำการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับโอนคดีมาทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ เมื่อปี พ.ศ.2556 โดยมีการรวบรวมพยานหลักฐานจากบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนมากรวมถึงการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ และการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และยังคงทำการสืบสวนหาตัวคนร้ายอยู่ต่อไป หลังจากนั้นจึงมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางคดีระหว่างกันโดยนายยาสุอากิ มีข้อเสนอในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้คดีฆาตกรรมเป็นคดีที่ไม่มีอายุความดังเช่นกฎหมายญี่ปุ่น เนื่องจากความผิดฐานฆ่าผู้อื่นในประเทศไทยมีอายุความ 20 ปี ซึ่ง พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยินดีรับข้อแนะนำเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวไปพิจารณา รวมทั้งแสดงความพร้อมในการให้ความร่วมมือกับผู้เสียหายและทางการญี่ปุ่นในการประสานความร่วมมือในการสืบสวนสอบสวนกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษต่อไป นอกจากนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 รวมทั้งแนวทางการแก้ไขเยียวยาผู้เสียหายตามกฎหมายไทยด้วย