DSI รับ กรณีกลุ่มนายทุนร่วมกันบุกรุกออกโฉนดที่ดินรุกป่าต้นน้ำ ในท้องที่ ต.เชียงคาน อ.เชียงกลาง จ.น่าน เป็นคดีพิเศษที่ 105/2563

เผยแพร่: 23 มี.ค. 2564 15:48 น. ปรับรุง: 26 เม.ย. 2564 11:48 น. เปิดอ่าน 3191 ครั้ง   EN
 

DSI รับ กรณีกลุ่มนายทุนร่วมกันบุกรุกออกโฉนดที่ดินรุกป่าต้นน้ำ 

ในท้องที่ ต.เชียงคาน อ.เชียงกลาง จ.น่าน เป็นคดีพิเศษที่ 105/2563

สืบเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีกลุ่มนายทุน นักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐบุกรุกป่าต้นน้ำ บริเวณพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำน้ำเลียบ บ้านดอนแท่น ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน มีพฤติการณ์เข้าไปยึดถือครอบครอง แผ้วถาง จับจองพื้นที่ โดยมีการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้ทำการสืบสวนกรณีดังกล่าว จากการสืบสวนเบื้องต้นพบว่า โฉนดที่ดิน จำนวน 8 แปลง คือ โฉนดที่ดินเลขที่ 9373, 9374, 9375, 9376, 9383, 9389, 9388 และ 9356 ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน เนื้อที่ประมาณ 250 ไร่ น่าจะเป็นการออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีสภาพพื้นที่เป็นที่เขา พื้นดินเป็นก้อนกรวดเป็นแนวสันเขา ไม่พบร่องรอยการทำประโยชน์


นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบว่า มีโฉนดที่ดินแปลงข้างเคียงซึ่งออกในบริเวณเดียวกันอีกจำนวน 50 ฉบับ รวมเนื้อที่ประมาณ 1,150 ไร่ น่าจะออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายด้วย เนื่องจากตรวจไม่พบว่ามีร่องรอยการทำประโยชน์และมีสภาพพื้นที่เช่นเดียวกัน รวมเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 1,400 ไร่


อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ออกโฉนดที่ดินและมีชื่อเป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินทั้ง 58 แปลงดังกล่าว เป็นการกระทำเพื่อเข้ายึดถือครอบครองที่ดินของรัฐหรือที่ป่า โดยใช้วิธีการออกโฉนดที่ดินเป็นเครื่องมือในการเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดิน เป็นการกระทำความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 ประกอบมาตรา 108 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 ประกอบมาตรา 72 ตรี วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน รวมทั้งมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ อันมีลักษณะเป็นคดีความผิดทางอาญามาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ก) และ (ข) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงได้มีคำสั่งให้รับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) โดยมอบหมายให้กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบทำการสอบสวน


พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า “กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีหน้าที่ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของส่วนรวม การลงพื้นที่ในวันนี้ เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ ซึ่งเป็นหน้าที่ของเรา”

************************************************

ลงวันที่ 23 มีนาคม 2564

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ