พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายการทำงาน กรมสอบสวนคดีพิเศษ

เผยแพร่: 29 ธ.ค. 2560 16:29 น. ปรับรุง: 29 ธ.ค. 2560 16:29 น. เปิดอ่าน 1849 ครั้ง   EN
 

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายการทำงาน กรมสอบสวนคดีพิเศษ

 

 

          ในวันนี้ (วันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2560) เวลา 10.00 น. พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายการทำงาน กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมี พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พันตำรวจเอก ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้การต้อนรับ และร่วมรับมอบนโยบายการทำงาน ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 1 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ

จากการประชุมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมที่ผ่านมา พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้หลักการบริหารงานโดยเน้นย้ำในเรื่องการอำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความทุกข์ยาก สร้างประชาสามัคคี ส่งเสริมคนดีสู่สังคม พร้อมทั้งเร่งรัดต้านภัยยาเสพติด เร่งรัดปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น คุ้มครองสิทธิเสรีภาพคู่คุณธรรม และสร้างกระบวนการยุติธรรมที่ยั่งยืน

         พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง กล่าวว่า “ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เร่งรัดการดำเนินงาน คดีที่มีผลกระทบกับประชาชน โดยเฉพาะกรณีปัญหาการกู้เงินจากสถาบันโดยใช้เอกสารที่มีการปลอมแปลง  ปัญหาหนี้นอกระบบ และแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยให้กรอบระยะเวลาในการดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน และจะกระชับระยะเวลาการช่วยเหลือผู้เสียหายให้เร็วขึ้น พร้อมทั้งขอให้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษและแจ้งเตือนภัยประชาชนให้มากขึ้น รวมถึงเน้นย้ำเรื่องการอำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความทุกข์ยาก สร้างประชาสามัคคี ส่งเสริมคนดีสู่สังคม พร้อมทั้งมอบนโยบายเพิ่มเติม คือ เร่งรัดต้านภัยยาเสพติด เร่งรัดปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ธำรงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพคู่คุณธรรม และสร้างกระบวนการยุติธรรมให้ยั่งยืน พร้อมทั้ง ได้ให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานกรมสอบสวนคดีพิเศษว่า ให้มีความมั่นใจและภูมิใจกับงานที่ทำ รู้ว่างานนั้นยาก แต่ขอให้ตั้งใจทำให้ดีที่สุด”

          ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษมีการดำเนินคดีพิเศษจำนวน 291 คดี และสอบสวนเสร็จ จำนวน 124 คดี ซึ่งเกินจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 120 คดี เมื่อรวมการดำเนินคดีพิเศษทั้งหมดตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จนถึง พ.ศ. 2560 รับคดีพิเศษทั้งสิ้น 2,382 คดี สอบสวนเสร็จ 1,997 คดี และเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวน 385 คดี โดยคดีที่สอบสวนเสร็จ เป็นการส่งพนักงานอัยการ จำนวน 1,601 คดี ส่งสำนักงาน ป.ป.ช. 134 คดี ส่งสำนักงาน ป.ป.ท. 3 คดี และงดสอบสวนหรือเปรียบเทียบปรับ 259 คดี มีมูลค่าความเสียหายที่สามารถเรียกคืนหรือรักษาผลประโยชน์ให้แก่รัฐประชาชนได้ 866 คดี มีมูลค่าความเสียหาย352,680.630 ล้านบาท สำหรับมูลค่าความเสียหายที่สามารถเรียกคืนหรือรักษาผลประโยชน์ให้แก่รัฐและประชาชนได้ เฉพาะปี 2560 เป็นคดีที่มีมูลค่าฯ 84 คดี มีมูลค่าความเสียหาย 107,220.82 ล้านบาท ซึ่งเกินจากค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 15,000 ล้านบาท

          นอกจากนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ใช้มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษโดยการเน้นนำเทคโนโลยีมาช่วยในการปฏิบัติงาน เช่น ระบบแม่ข่ายแผนที่ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (DSI MAP)และผ่านระบบดาวเทียม GPS (DSI MAP Extended) รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายดีเอสไอในการป้องกันอาชญากรรมคดีพิเศษ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภารกิจการป้องกันอาชญากรรมในระดับพื้นที่

          รวมทั้ง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการผลิดและเผยแพร่เอกสารชุดความรู้ ความเข้าใจและการเตือนภัยแก่ประชาชนเกี่ยวกับอาชญากรรมพิเศษ (Infographics) ผ่านทางสื่อต่าง ๆ ได้แก่ สื่อมวลชนทุกแขนง, สื่อ Social Media ต่าง ๆ เช่น ทางเว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ www.dsi.go.th และ Facebook ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ,  DSI News), DSI Application, GNews ซึ่งเป็นช่องทางและการสื่อสารกับประชาชน ในการให้ความรู้ ความความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษ และเป็นการเตือนภัยประชาชน เช่น เตือนภัยแชร์ลูกโซ่, หนี้นอกระบบ, แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นต้น

          กรมสอบสวนคดีพิเศษมุ่งเน้นอำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความทุกข์ยากตามนโยบายกระทรวงยุติธรรม ผ่านระบบการรับเรื่องร้องทุกข์และบริการประชาชน รวมถึงการดำเนินงานเชิงรุกของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมให้เป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น พร้อมปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชน ดังที่ได้กำหนดไว้ในวิสัยทัศน์ กรมสอบสวนคดีพิเศษที่ว่า “เป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศด้านการป้องกัน ปราบปราม สืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ และได้รับความเชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม”

 

****************************************************************

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ