DSIจับมือกรมการจัดหางาน เปิด “Operation Labor Safeguards” ตัดต้นตอขบวนการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ ประสานกองปราบปรามรวบเอเย่นต์ขบวนการหลอกลวงแรงงานข้ามชาติรายใหญ่
เผยแพร่: 12 ม.ค. 2562 1:01 น. ปรับรุง: 12 ม.ค. 2562 1:01 น. เปิดอ่าน 2583 ครั้ง
DSIจับมือกรมการจัดหางาน เปิด “Operation Labor Safeguards” ตัดต้นตอขบวนการ
ค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ ประสานกองปราบปรามรวบเอเย่นต์ขบวนการหลอกลวงแรงงาน
ข้ามชาติรายใหญ่
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับการประสานข้อมูลจากกรมการจัดหางานว่ามีเหยื่อถูกเอเย่นต์ ในขบวนการจัดหางานข้ามชาติ ใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ก หลอกลวงว่า สามารถจัดหางานในโรงงานอุตสาหกรรมหรือในธุรกิจนวดแผนโบราณในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย โปรตุเกส สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 จากการสืบสวนทราบว่า มีผู้ได้รับความเสียหายทั้งหมดจำนวน 16 ราย มูลค่าความเสียหายรายละประมาณ 5,000 – 40,000 บาท รวมมูลค่าความเสียหายเท่าที่ตรวจสอบได้ในขณะนี้ ประมาณ 500,000 บาท และเชื่อว่า ยังคงมีผู้เสียหายรายอื่นจากการกระทำของขบวนการหลอกลวงแรงงานข้ามชาตินี้อีกจำนวนมาก
ตามนโยบายของรัฐบาลในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้เห็นเป็นรูปธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษมีการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอย่างจริงจังโดยเฉพาะการบังคับใช้แรงงานหรือบริการโดยผิดกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของขบวนการหลอกลวงแรงงานข้ามชาติ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์และมาตรการสำคัญในการกวาดล้างต้นตอของขบวนการและเป็นนโยบายป้องกันการค้ามนุษย์ในทางอีกหนึ่ง พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มอบหมายให้ พันตำรวจโท ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สนธิกำลังร่วมกันกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการสืบสวนจับกุม รวบรวมพยานหลักฐานและขยายผลให้ถึงหัวหน้าขบวนการหลอกลวงแรงงานข้ามชาติดังกล่าว
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย ร้อยตำรวจเอก เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ และคณะพนักงานสอบสวน จึงได้ประสานงานเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม แต่งตั้งชุด “Operation Labor Safeguards” เข้าปิดล้อมและจับกุมตัว นางสาวมัลลิกา พรมเสนา ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดพัทยา ได้ที่บริเวณบ้านเลขที่ 45/4 หมู่ 11 ตำบลหนองประดู่ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี นำส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา ดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้และการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 3 ถึง 10 ปี ปรับ 60,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากการสอบสวนนางสาวมัลลิกาฯ เอเย่นต์ขบวนการหลอกลวงแรงงานข้ามชาติรายใหญ่นี้ ทำให้ทราบถึงลักษณะการกระทำความผิดในการหลอกลวงแรงงานไปทำงานที่ต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต ทั้งวิธีการที่ใช้หลอกลวงเหยื่อและจำนวนเงินที่หลอกลวงจากเหยื่อแต่ละราย กล่าวคือ ในอดีต ผู้หลอกลวงแรงงานจะต้องเข้าไปหาคนที่สนใจไปทำงานต่างประเทศตามชุมชนหรือหมู่บ้านต่าง ๆ แต่ในปัจจุบัน ขบวนการหลอกลวงแรงงานข้ามชาติจะอาศัยสื่อออนไลน์ เช่น เว็บไซต์หรือกลุ่มจัดหางานในเฟสบุ๊ก เป็นช่องทางในการติดต่อกับเหยื่อ โดยขบวนดังกล่าวจะเข้าไปแสดงความเห็นต่อท้ายข้อความของเหยื่อที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ และจะขอแยกมาคุยเป็นการส่วนตัวผ่านช่องทางสนทนาส่วนตัว เช่น ข้อความส่วนตัวของเฟสบุ๊ก (Facebook Messenger) หรือไลน์ (Line Application) เพื่อโน้มน้าวให้เหยื่อหลงเชื่อ นอกจากนี้ ในอดีต ผู้หลอกลวงแรงงานจะมีการเรียกรับเงินค่าจ้างนำพาเป็นเงินก้อนใหญ่ จำนวนหลายแสนบาท แต่ในปัจจุบัน ขบวนการนี้จะหลอกลวงให้เหยื่อจ่ายเงินเป็นจำนวนน้อย ๆ ในหลักพันบาท โดยอ้างเป็นค่าทำหนังสือเดินทาง ประกันการเดินทาง ค่าตั๋วเครื่องบิน หรือค่าอบรมเพื่อการเตรียมตัวตอบคำถามกับเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทำให้เหยื่อไม่ติดใจในการจ่ายเงินแต่ละครั้ง รวมถึงไม่ประสงค์เข้าแจ้งความเนื่องจากเป็นความเสียหายมูลค่าน้อย อย่างไรก็ตาม พฤติการณ์ดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษและกรมการจัดหางานจะได้ประสานการติดต่อกับผู้เสียหายและเหยื่อรายอื่นที่ถูกนางสาวมัลลิกาฯ ผู้ต้องหา หลอกลวงเพื่อมาให้ข้อมูลในการดำเนินการตามกฎหมายเพิ่มเติมต่อไป
จากการสืบสวนขยายผลทราบว่า ผู้ต้องหารายนี้ยังคงมีหมายจับของศาลจังหวัดบัวใหญ่ที่ 97/2561 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2561 ในข้อหาเดียวกัน และการกระทำความผิดดังกล่าวมีลักษณะการทำงานเป็นเครือข่ายองค์กรอาชญากรรม ซึ่งมีผู้ร่วมกระทำความผิดอีกหลายราย โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะส นธิกำลังร่วมกับกรมการจัดหางานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสืบสวนขยายผลถึงขบวนการต่อไป อีกทั้ง กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้มอบหมายให้กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ประสานงานสถานเอกอัครราชทูตประเทศที่ผู้ต้องหากล่าวอ้างเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางป้องกันและสกัดกั้นขบวนการหลอกลวงแรงงานไปทำงานอย่างผิดกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ Operation Labor Safeguards ถือเป็นปฏิบัติการ “ตัดไฟแต่ต้นลม” เพื่อช่วยเหลือและยับยั้งไม่ให้แรงงานถูกล่อลวงตั้งแต่ในชั้นแรกของการสมัครเพื่อเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ อันจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในต่างแดนต่อไป อีกทั้ง ปฏิบัติการนี้ยังแสดงให้เห็นความพร้อมในการสนธิกำลังและความสำเร็จในการบูรณาการระหว่าง 3 หน่วยงานที่มีหน้าที่ปกป้องและป้องกันแรงงานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อขบวนการหลอกลวงแรงงานข้ามชาติ ได้แก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และกองบังคับการปราบปราม
กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนผ่านสื่อมวลชนว่า ขอให้ประชาชนพิจารณาข้อความชวนเชื่อในสื่อสังคมออนไลน์อย่างรอบคอบ อย่าหลงเชื่อผู้ที่ชักชวนว่า สามารถช่วยให้ไปทำงานในต่างประเทศได้ หากประสงค์ไปทำงานต่างประเทศ ควรใช้บริการบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย จากกรมการจัดหางานเท่านั้น และควรติดต่อและตรวจสอบกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานก่อนทุกครั้ง สำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการหลอกลวงแรงงานรายนี้ ขอให้เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อร่วมยุติขบวนการหลอกลวงข้ามชาติไม่ให้ก่อความเสียหายต่อไป โดยสามารถแจ้งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ที่ เบอร์โทรสายด่วน 1202 หรือที่เว็บไซต์ www.dsi.go.th
**********************************************
ข้อมูล ณ วันที่ 10 มกราคม 2562 เวลา 15.45 น.
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เปิดอ่าน 89 ครั้ง
เปิดอ่าน 73 ครั้ง
เปิดอ่าน 457 ครั้ง
ข่าวที่น่าสนใจ
เปิดอ่าน 89 ครั้ง
เปิดอ่าน 73 ครั้ง
เปิดอ่าน 457 ครั้ง