DSI ขยายผลตรวจค้นแชร์ลูกโซ่จังหวัดยโสธร

เผยแพร่: 31 พ.ค. 2559 17:08 น. ปรับปรุง: 31 พ.ค. 2559 17:08 น. เปิดอ่าน 1096 ครั้ง  
 

DSI ขยายผลตรวจค้นแชร์ลูกโซ่จังหวัดยโสธร

 

ตามนโยบายของพันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ได้ให้ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนให้เกิดผลเป็นที่ประจักษ์นั้น พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 จึงมอบหมายให้ พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 เร่งรัดการปราบปรามการกระทำผิดดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

วันนี้ (วันที่ 31 พฤษภาคม 2559) เวลา 09.00 น. พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ได้ มอบหมายให้ นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ผู้อำนวยการส่วนคดีอาญาพิเศษ 2 และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 5/2558เข้าตรวจค้นเป้าหมายสถานที่บ้านพักตัวการสำคัญของขบวนการแชร์ลูกโซ่ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและอายัดทรัพย์ที่ได้มาจากการหลอกลวง โดยสนธิกำลังร่วมกับตำรวจภูธรจังหวัดยโสธร พร้อมหมายค้นของศาลจังหวัดยโสธร ที่ 131/2559 และ  132/2559 เข้าทำการตรวจค้นของแกนนำกลุ่มขบวนการแชร์ลูกโซ่ ดังนี้

1. บ้านเลขที่  373 หมู่ 1 ตำบลสำราญ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร

ผลการตรวจค้น ไม่พบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

2.บ้านเลขที่ 33 หมู่ที่ 11 ตำบลสำราญ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร
ผลการตรวจค้นพบ ทองรูปพรรณ น้ำหนัก 10 บาท วัตถุคล้า อัญมณี จำนวน หนึ่ง ซึ่งจะทำการยึดเพื่อตรวจสอบที่มา และยึดโฉนดที่ดินเพื่อตรวจสอบ จำนวน 20 แปลง

สืบเนื่องจากการสอบสวนคดีพิเศษที่ 5/2559 กรณี ผู้เสียหายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับอดีตผู้จัดการสถาบันการเงินของรัฐแห่งหนึ่ง ในพื้นที่จังหวัดยโสธร ซึ่งหลอกลวงชักชวนให้ประชาชนเชื่อว่าเป็นการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการของรัฐและจะได้กำไร ร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือปีละ 120 %ทำให้มีผู้หลงเชื่อ ร่วมลงทุนโดยนำเงินมาลงทุนและเข้าทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารเพื่อลงทุน โดยโครงการลงทุนของรัฐที่ว่านั้นไม่ได้มีอยู่จริง สร้างความเสียหายให้กับผู้เสียหายในพื้นทื่กว่า 100 ล้านบาท  ทั้งนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้สอบสวนสืบสวน พบว่ายังมีผู้ร่วมขบวนการที่เป็นแม่สายชักชวนให้ประชาชนเข้ามาลงทุนอีกหลายราย โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้แจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนมาตรา 431 ประมวลกฎหมายอาญา กับผู้ร่วมขบวนการไปแล้ว 13 ราย และได้ดำเนินการอายัดบัญชีธนาคารและอายัดการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินส่วนหนึ่งไปแล้ว

ในการตรวจค้นครั้งนี้ เป็นการดำเนินการเชิงรุกเกี่ยวมาตรการเกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ตามนโยบายกระทรวงยุติธรรม ที่ประสงค์ให้ดำเนินการกับกลุ่มผู้กระทำความผิดดังกล่าวแบบถอนรากถอนโคนและเยี่ยวยาให้กับผู้เสียหายที่หลงเข้ามาลงทุน ดังนั้น คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จึงจำเป็นต้องดำเนินการต่อทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด แม้ว่าจะได้มีการยักย้ายถ่ายเทไปหรือเปลี่ยนแปลงสภาพไปที่อื่นแล้วก็ตาม