DSI ถกหน่วยงานระดับพื้นที่ ขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล ป้องกันหนี้นอกระบบ และการหลอกลวงผ่านระบบออนไลน์
เผยแพร่: 9 ส.ค. 2562 10:36 น. ปรับรุง: 9 ส.ค. 2562 10:36 น. เปิดอ่าน 1020 ครั้งDSI ถกหน่วยงานระดับพื้นที่ ขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล
ป้องกันหนี้นอกระบบ และการหลอกลวงผ่านระบบออนไลน์
พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง
ที่จะต้องดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาและลดผลกระทบกับประชาชนและระบบเศรษฐกิจภายใน 1 ปี นั้น ในวันนี้ (วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2562) ได้มอบหมายให้ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม (ศนธ.) และกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นหน่วยงานที่ดูแลระดับพื้นที่ ประกอบด้วย ยุติธรรมจังหวัด 19 แห่ง ผู้แทนอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สำนักงานกิจการยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคประชาชน ร่วมสะท้อนสภาพปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ เพื่อจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (เรื่องที่ 1) การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน โดยพุ่งเป้าไปที่ปัญหาหนี้นอกระบบและการฉ้อโกงหลอกลวงประชาชนผ่านระบบออนไลน์
สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กรมสอบสวนคดีพิเศษมีเป้าหมายดำเนินงานดังนี้
1. เน้นการขับเคลื่อนทำงานเชิงรุกด้านการป้องกันอาชญากรรมพิเศษที่เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาหนี้นอกระบบ เช่น แชร์ลูกโซ่ การให้กู้ยืมเงินหรือการหลอกลวงฉ้อโกงให้ประชาชนในรูปแบบต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ รวมทั้งการไม่ได้รับความเป็นธรรมรูปแบบต่างๆ
2. การสร้างการรับรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งและป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม โดยจะร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ปรับปรุงและพัฒนานวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ “The Choice เกมทางเลือก - ทางรอด” เกมสำหรับเรียนรู้กฎหมาย หลักการดำเนินชีวิต การรู้เท่าทันอาชญากรรม และนำไปใช้ขยายผลสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทั่วประเทศ ผ่านกลไกยุติธรรมจังหวัด สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้จับมือกับสถาบันพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมติดตามประเมินผลอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้คาดหวังว่าจากการนำไปใช้ขยายผลจะเป็นการสร้างคนและชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และเป็นเครือข่าย ส่งต่อข้อมูลเพื่อการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษอีกทางหนึ่ง
3. การพัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลการรับแจ้ง Call center ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยอื่น สามารถวิเคราะห์ประมวลผลและประสานติดตามการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ในการดำเนินงานหากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบในวงกว้างจะส่งทีมงานลงพื้นที่เพื่อบูรณาการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และเน้นมาตรการปราบปรามนายทุนรายใหญ่โดยใช้มาตรการทางอาญาและภาษีในกรอบภารกิจของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อมูลเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิดในเรื่องดังกล่าว สามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ หรือแจ้งเบาะแสมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยสามารถติดต่อผ่าน 8 ช่องทาง ดังนี้ (1) การติดต่อด้วยตนเองที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขที่ 128 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 (2) การส่งเรื่องมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษทางไปรษณีย์ (3) โทรสายด่วนหรือ Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) (4) การติดต่อผ่านเว็บไซต์ www.dsi.go.th (5) การติดต่อผ่าน Messenger Facebook ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (6) การติดต่อผ่านแอพพลิเคชั่น DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่อยู่บนระบบโทรศัพท์ Smartphone ทั้งระบบ IOS และ Android (7) การติดต่อผ่านตู้สีขาว รับเรื่องราวร้องทุกข์ และ (8) การติดต่อผ่านศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษทั้ง 10 เขต ซึ่งสามารตรวจสอบที่ตั้งได้จากเว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะรักษาข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับและจะดำเนินการตามกฎหมาย
*************************************