DSI บูรณาการ 4 หน่วยงานภาครัฐ พัฒนาการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ด้วยโปรแกรมวิเคราะห์การกระทำผิด

เผยแพร่: 25 ม.ค. 2562 14:33 น. ปรับปรุง: 25 ม.ค. 2562 14:33 น. เปิดอ่าน 1865 ครั้ง  
 

DSI บูรณาการ 4 หน่วยงานภาครัฐ พัฒนาการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ด้วยโปรแกรมวิเคราะห์การกระทำผิ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม 2562 เวลา 10.00 น. พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมโครงการแนวทางการพัฒนาการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยใช้โปรแกรมวิเคราะห์การกระทำความผิดแบบบูรณาการอย่างมีส่วนร่วมเป็นระบบ ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 8 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานครโดยมี พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร กรมการปกครอง และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย

 

ที่มาของการประชุมดังกล่าว สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีความมั่นคงเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และสอบสวนการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือ “กฎหมายนอมินี” เฉพาะที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศในมิติต่าง ๆ อันเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ ในการปฏิบัติงานที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยบุคคลและใช้พยานหลักฐานจากฐานข้อมูลในความรับผิดชอบของ4 หน่วยงานข้างต้น จนสามารถกำหนดรูปแบบในการวิเคราะห์การกระทำผิดที่แน่ชัด และเห็นว่าสามารถพัฒนาเป็นโปรแกรมประยุคต์เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและแปลผลได้ อันจะลดระยะเวลาและขั้นตอนในการดำเนินคดี ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2560 พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำโครงการแนวทางการพัฒนาการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 โดยใช้โปรแกรมวิเคราะห์การกระทำความผิดแบบบูรณาการอย่างมีส่วนร่วมเป็นระบบ มีกองคดีความมั่นคงรับผิดชอบ ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาโปรแกรมเสร็จแล้ว เป็นโปรแกรม Criminal Accounting Investigation (DSI - CAI) โดยโปรแกรมดังกล่าว สามารถวิเคราะห์พยานหลักฐานและบ่งชี้ได้ว่านิติบุคคลใดเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ในช่วงเวลาใด มีรายได้เท่าใด และบุคคลใดอยู่ในข่ายที่จะต้องถูกดำเนินคดีบ้าง

โดยในวันดังกล่าว คณะทำงานได้สาธิตการทำงานของโปรแกรมต่อที่ประชุมและขอรับข้อคิดเห็นเพื่อกลับไปพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยระบบแทนการขอข้อมูลระหว่างกันผ่านบุคคลและนำมาบันทึกลงโปรแกรมที่อาจล่าช้าในการบันทึกข้อมูล ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปโดยรวดเร็ว และเมื่อพัฒนาเสร็จแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษจะอนุญาตให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเข้าใช้ระบบร่วมกัน เพื่อสร้างมาตรฐานเดียวกันและสร้างฐานข้อมูลให้มีความสมบูรณ์และเข้มแข็ง อันจะทำให้การบูรณาการในการป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และสอบสวนในเรื่องเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาล ตามนโยบาย Thailand 4.0

 

คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ

25 มกราคม 2562

 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ