DSI ร่วมกับพันธมิตรจัดทำแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เบื้องต้น

เผยแพร่: 2 ธ.ค. 2560 11:26 น. ปรับปรุง: 2 ธ.ค. 2560 11:26 น. เปิดอ่าน 943 ครั้ง  
 

DSI ร่วมกับพันธมิตรจัดทำแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เบื้องต้น

 

           ระหว่างวันที่  30 พฤศจิกายน – 1  ธันวาคม 2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม โดยพันตำรวจเอก ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “เพื่อจัดทำแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือเพื่อการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เบื้องต้น” ณ ห้องประชุมไมดาส โรงแรมไมด้า ดอนเมือง แอร์พอร์ต หลักสี่ กรุงเทพ ซึ่งมี ผู้แทนจาก UNITED NATIONS ACTION FOR COOPERATION AGAINST TRAFFICKING IN PERSONS (UN-ACT) หน่วยงานราชการ องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวข้องกับการคัดแยกผู้เสียจากการค้ามนุษย์เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก 

             สืบเนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหลายหน่วยงาน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประสบปัญหาในการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ออกมาจากภัยอันตรายในสภาวะที่มีข้อจำกัดด้านเวลา สถานที่ สภาพแวดล้อมและปัจจัยอื่นๆ เช่น การตรวจแรงงานบนเรือในท้องทะเล การตรวจโรงงานที่มีแรงงานจำนวนมาก ในพื้นที่เสี่ยงภัย หรือการตรวจสถานบริการที่มีการลักลอบขายบริการทางเพศ รวมไปถึงอุปสรรคด้านภาษาที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้เสียหายซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ดังนั้นจึงจำเป็นแนวทางใหม่ๆในการช่วยให้การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

 
 
 
 
 
         พันตำรวจเอกไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มอบนโยบายให้กองคดีการค้ามนุษย์ หาวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกับโครงการความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UNITED NATIONS ACTION FOR COOPERATION AGAINST TRAFFICKING IN PERSONS : UN-ACT) มหาวิทยาลัย
แห่งสหประชาชาติ (UNITED NATIONS UNIVERSITY COMPUTING AND SOCIETY: UNU-CS) และ MEKONG CLUB ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคี ร่วมกันจัดทำโครงการพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้ในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เบื้องต้นร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ระดับผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม ในการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เบื้องต้น ก่อนที่จะนำผู้เสียหายเหล่านั้น เข้าสู่กระบวนการคัดแยกโดยสหวิชาชีพอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากสถานการณ์และผู้เสียหายเหล่านี้ อยู่ในความปลอดภัยและภายใต้ความควบคุมของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง อันจะเป็นการสร้างเสริมประสิทธิภาพในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินคดีป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์  
 
           ซึ่งได้นำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากการสัมมนาในครั้งนี้ ไปพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เบื้องต้น โดยจะเริ่มจะจัดทำเป็นเวอร์ชั่นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เมียนมา และจะทำเป็นภาษาประจำชาติต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียนในเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้แอพพลิชั่นดังกล่าวแจกจ่ายให้ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เบื้องต้น ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ก่อนนำไปสู่การดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเต็มรูปแบบต่อไป

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ