DSI ร่วมกับ กรมป่าไม้ ปราบปรามผู้บุกรุกป่าสงวน เนื้อที่กว่า 700 ไร่ ในจังหวัดเพชรบูรณ์
เผยแพร่: 28 มี.ค. 2559 11:36 น. ปรับรุง: 28 มี.ค. 2559 11:36 น. เปิดอ่าน 2918 ครั้งDSI ร่วมกับ กรมป่าไม้ ปราบปรามผู้บุกรุกป่าสงวน เนื้อที่กว่า 700 ไร่ ในจังหวัดเพชรบูรณ์
วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2559 พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับผู้บริหารกรมป่าไม้ ทำการตรวจสอบพื้นที่การแผ้วถาง ปลูกยางพาราในพื้นที่ซึ่งเป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์โซนซี ( C ) เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บี (B)และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 มีเนื้อที่ประมาณ 700 ไร่ เศษ และมีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ“ป่าภูเปือย ป่าภูขี้เถ้า และป่าภูเรือ” ตำบลศิลา อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เหตุเกิดในพื้นที่บ้านหนองเขียว หมู่ที่ 9 คาบเกี่ยวกับบ้านซำบุ่น หมู่ที่ 11 ตำบลศิลา อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเป็นคดีพิเศษและได้สรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้กระทำผิดจำนวน 14 ราย โดยเป็นเจ้าพนักงานของรัฐจำนวน 6 ราย (เสียชีวิต 1 ราย) และผู้ครอบครองที่ดินจำนวน 8 ราย โดยในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ สำนักงาน ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องคืนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังโดยสรุปว่า เมื่อปลายปี พ.ศ. 2547 ถึง พ.ศ. 2548 ผู้ต้องหา 8 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มทุนในพื้นที่ภาคใต้ มีความสนใจที่ดินในพื้นที่ภาคเหนือหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อปลูกยางพารา ต่อมาได้รู้จักกับอดีตกำนันในพื้นที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นนายหน้าในการติดต่อขอซื้อที่ดินมือเปล่าที่มีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.5) จากราษฎรในพื้นที่ตำบลศิลา อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อมาได้มีการซื้อขายที่ดินโดยมีการทำเป็นหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายและวางมัดจำเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2548 และวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 เมื่อซื้อที่ดินแล้วผู้ต้องหาทั้ง 8 คน จึงเข้าครอบครอง แผ้วถางพื้นที่และ
ทำประโยชน์ในที่ดินด้วยการเริ่มปลูกยางพารา
ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2548 จังหวัดเพชรบูรณ์ออกประกาศจังหวัดเพชรบูรณ์ ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2548 เรื่องกำหนดท้องที่ที่จะทำการและวันที่เริ่มต้นเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน ผู้ต้องหาที่ 1 – 5 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐได้รับคำสั่งจากกรมที่ดินให้ทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานเดินสำรวจในโครงการดังกล่าว และดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้กับผู้ที่ครอบครองที่ดินทั้ง 8 ราย จนสำเร็จ เป็นโฉนดที่ดินจำนวน 25 แปลง เนื้อที่ประมาณ 700 ไร่เศษ โดยร่วมกับผู้ต้องหาที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่
ผลการสอบสวนพบว่า โฉนดที่ดินทั้ง 25 แปลง มีการออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากภาพและสถานะของที่ดินอยู่ในหลักเกณฑ์ต้องห้ามตามกฎหมาย ดังนี้
1.อยู่ในพื้นที่เขตเขาหรือภูเขา หรือปริมณฑลรอบที่เขาหรือภูเขา 40 เมตร ทุกแปลง และอยู่บนพื้นที่ที่มีความลาดชันเกิน 35% เกือบทุกแปลง ยกเว้น โฉนดที่ดินเลขที่ 27430
2.โฉนดที่ดิน เลขที่ 27408, 27409, 27411, 27413, และ 27432 อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติทั้งแปลง อีก 4 แปลงอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติบางส่วน
3.จากผลการอ่าน แปล ตีความ และวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ ในช่วงปี พ.ศ. 2497, 2510, 2527, 2539, และ 2545 พบว่าที่ดินแปลงเกิดเหตุจำนวน 14 แปลง ออกทับลำห้วยและทางสาธารณประโยชน์และในปี 2497 มีสภาพเป็นป่าผลัดใบทั้งแปลง ไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์และบางแปลงมีร่อยรอยการทำประโยชน์แต่ออกโฉนดเกินกว่าพื้นที่ทำประโยชน์
การดำเนินการของเจ้าพนักงานของรัฐจำนวน 6 ราย ในการออกโฉนดในที่เขาหรือภูเขา ป่าสงวนแห่งชาติ ประกอบกับเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการทำประโยชน์มาก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 58 ประกอบ มาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี กฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นความผิดตามมาตรา 157 , 162 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
สำหรับผู้ที่ครอบครองที่ดินจำนวน 8 ราย นอกจากจะมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานในการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นความผิดตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ยังเป็นความผิดฐานบุกรุกที่ดินของรัฐ ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มูลค่าความเสียหายจำนวน 29,532,448 บาท (ยี่สิบเก้าล้านห้าแสนสามหมื่นสองพันสี่ร้อยสี่สิบแปดบาทถ้วน)
พื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุครั้งนี้อยู่ในพื้นที่ที่เป็นต้นน้ำลำธาร และเป็นเขตเขา ภูเขา ต่อเนื่องมาจากพื้นที่ของจังหวัดเลย ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อ 2 จังหวัด ที่ได้มีการประกาศเขตเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินและมีการทุจริตออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการโดยเฉพาะการยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าด้วยการไปออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรม ที่จะทวงคืนผืนป่ากลับมาเป็นของรัฐและดำเนินคดีกับข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอย่างจริงจัง กรณีนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้มีการบูรณาการกับกรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่บริเวณนี้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป