DSI จับมือ MJIB ทลายเครือข่ายองค์กรข้ามชาติ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”
เผยแพร่: 18 ต.ค. 2560 13:55 น. ปรับปรุง: 18 ต.ค. 2560 13:55 น. เปิดอ่าน 2715 ครั้ง ENDSI จับมือ MJIB ทลายเครือข่ายองค์กรข้ามชาติ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”
ในห้วงตั้งแต่พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันได้มีประชาชนร้องเรียนกับศูนย์ข้อมูล บริษัทไปรษณีย์ไทยว่า มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์ติดต่อเข้ามาแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากบริษัทไปรษณีย์ไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กองกำกับการสืบสวนตำรวจภาค 1 - ภาค 9 สำนักงานป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ประมาณ 8,000 ราย คาดว่าน่าจะมีผู้หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อร่วม 100 ราย วงเงินกว่า 200 ล้านบาท
กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ภายใต้การอำนวยการของ พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจเอก ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล และพันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล รองอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มอบหมายให้ พันตำรวจโท วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ และ พันตำรวจโท ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ทำการสืบสวนเครือข่าย ขบวนการ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา
ทางการสืบสวนพบว่า เครือข่ายดังกล่าวตั้งฐานการดำเนินงานคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงอยู่ต่างประเทศ โดยคนต่างชาติร่วมมือกับคนไทย นำเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้ในการโทรศัพท์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ VoIP (Voice Over Internet Protocol) เพื่อให้เกิดความซับซ้อนยากแก่การติดตาม มีการแสดงหมายเลขโทรศัพท์ ในขณะรับสายเป็นเบอร์โทรของหน่วยงานรัฐ เช่น ดีเอสไอ บริษัทไปรษณีย์ไทย หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อสร้าง ความน่าเชื่อถือ จากนั้นจะมีการพูดจาโน้มน้าว กดดัน จนเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเครือข่าย หรือบัญชีรับจ้างที่เรียกว่า “บัญชีม้า” ในเวลาเดียวกันนั้น ก็จะมีชาวต่างชาติที่แฝงตัวมาในฐานะนักท่องเที่ยว ทำการกดเงินออกโดยทันที ที่ผ่านมาจับกุมผู้กระทำผิดได้แต่เพียงผู้เปิดบัญชีรับจ้าง ผู้ถอนเงิน และผู้ช่วยเหลือ สนับสนุนรายเล็ก ๆ ซึ่งมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ
การสืบสวนของดีเอสไอ มุ่งเน้นการทำลายองค์กรเพื่อตัดวงจรการกระทำผิด โดยตรวจสอบพบว่า มีการโทรผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ด้วยระบบ VoIP ผ่านผู้ให้บริการของบริษัท พี เอ็ม เอ็น จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ อาคารทศพลแลนด์ 4 เขตบางนา กรุงเทพมหานคร และในขณะเดียวกันทีมสืบสวนได้เฝ้าติดตามดูพฤติกรรมกลุ่มคนไทยผู้ต้องสงสัย ซึ่งมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับคนไต้หวัน และมีข้อมูลการเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง จนมีฐานะร่ำรวยผิดสังเกต โดยพบเบาะแสว่าจะเดินทางไปยังไต้หวัน ช่วงระหว่างวันที่ 20 - 25 กันยายน 2560 ทีมสืบสวนจึงได้ประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ MJIB ไต้หวัน (The Ministry of Justice Investigation Bureau) เฝ้าติดตามพฤติกรรมและหาพยานหลักฐานอย่างต่อเนื่องจนพบพยานหลักฐานสำคัญเป็นบทพูดภาษาไทยที่ใช้ ในการหลอกลวงเหยื่อ และคนไทยกลุ่มนี้อยู่ในความคุ้มครองดูแลของคนไต้หวันที่มีประวัติต้องโทษเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงและลักทรัพย์ ดีเอสไอ จึงได้ประสานงานความร่วมมือกับ MJIB ส่งข้อมูลพยานหลักฐานเพื่อเข้าตรวจค้น เป้าหมายพร้อมกัน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 เวลา 11.00 น. โดยพันตำรวจโท ธวัชชัย ศรีวรกุล ผู้อำนวยการส่วนคดีเทคโนโลยี 2 ได้นำกำลังร่วมกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เข้าตรวจค้น บริษัท พี เอ็ม เอ็น จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ อาคารทศพลแลนด์ 4 เขตบางนา กรุงเทพมหานคร เพื่อเก็บพยานหลักฐาน ในติดต่อสื่อสาร VoIP ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต พบข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ ของเครือข่ายผู้กระทำผิด มีการเชื่อมโยงจากเครือข่ายจดทะเบียนทั้งใน ฮ่องกง อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา
ในขณะเดียวกัน MJIB ได้เข้าทำการตรวจค้นที่ทำการของกลุ่มเป้าหมาย ณ เมืองไทจง (Taichung) และเมืองเหมี่ยวลี่ (Miaoli) พบพยานหลักฐานเป็นเอกสารบทพูดที่ใช้ในการหลอกลวงเหยื่อ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ การสื่อสาร ที่แสดงได้ว่าร่วมกันกระทำผิดในลักษณะของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตรวจค้นและจับกุมคนไทย จำนวน 18 คน และคนไต้หวัน จำนวน 7 คน ซึ่งคนไทยที่ถูกจับกุม 2 คน คือ นางธัญวรรณ วงษ์ภักดี และนายณัฐสิทธิ์ สามตะคุ เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดีคอลเซ็นเตอร์ ที่เป็นความร่วมมือของทีมสืบสวน กองคดีเทคโนโลยีและสารเทศ และพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน จากผู้เสียหาย มีการชักชวนคนไทยไปทำงานรับโทรศัพท์ ที่ไต้หวัน โดยได้รับค่าตอบแทนมากกว่า 100,000 บาทต่อเดือน
การทลายเครือข่าย “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” พร้อมกันทั้งในประเทศและต่างประเทศในครั้งนี้ เป็นการบูรนาการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ MJIB ไต้หวัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ทั้งนี้ ภายหลังจากตรวจค้นพบว่า มีการแจ้งเรื่องร้องเรียนลดน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มอบหมายให้กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ เฝ้าติดตามพฤติการณ์หลอกลวงอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งย้ำเตือนพี่น้องประชาชน
1. อย่าหลงเชื่อโทรศัพท์อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ที่พูดจาโน้มน้าวให้กระทำ อย่างใดอย่างหนึ่ง และย้ำเตือนว่าหน่วยงานธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสถาบันการเงินไม่มีการสั่งทางโทรศัพท์ ให้โอนเงินเพื่อปิดบัญชี หากมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ให้สอบถามได้ที่ Call Center กรมสอบสวนคดีพิเศษ โทร. 1202
2. อย่าเข้าไปมีส่วนร่วมกับผู้กระทำผิด เพื่อหวังค่าจ้างเพียงเล็กน้อย โดยไปเปิดบัญชีเงินฝาก พร้อมมอบบัตรเอทีเอ็มให้กับคนอื่นใช้บัญชีเพราะเขาอาจใช้เป็นบัญชีรับโอนเงินจากการกระทำผิด ซึ่งเจ้าของบัญชีจะต้องถูกดำเนินคดีว่ามีส่วนร่วมกระทำผิด
3. อย่าไปร่วมมือกับชาวต่างชาติไปทำการหลอกลวง แม้จะมีการเดินทางไปต่างประเทศและ มีรายได้ แต่ผู้เดือดร้อนที่ตกเป็นเหยื่อเป็นผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเงินที่เก็บไว้ใช้ยามบั้นปลายของชีวิต
ทั้งนี้ MJIB มีข้อห่วงใยสำหรับคนไทยที่จะเข้าไปทำงานในไต้หวันโดยผิดกฎหมายว่าการกระทำความผิดในไต้หวันไม่ใช่เรื่องที่กระทำได้ง่าย และหากตรวจพบจะต้องถูกดำเนินการทางคดีทุกคน