DSI จับกุมนักแสดงชาวอเมริกัน ร่วมขบวนการต้มตุ๋นแชร์ข้ามชาติ กรณีบริษัท อีเกิ้ล เกทส์ กรุ๊ป จำกัด

เผยแพร่: 21 ส.ค. 2561 15:05 น. ปรับรุง: 21 ส.ค. 2561 15:05 น. เปิดอ่าน 1616 ครั้ง  
 
DSI จับกุมนักแสดงชาวอเมริกัน ร่วมขบวนการต้มตุ๋นแชร์ข้ามชาติ กรณีบริษัท อีเกิ้ล เกทส์ กรุ๊ป จำกัด
 
ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสอบสวนคดีพิเศษที่ 103/2560 กรณีบริษัท อีเกิ้ลเกทส์ กรุ๊ป จำกัด กับพวก หลอกลวงผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยอ้างว่า เป็นบริษัทซื้อขายดัชนีหุ้นมาจากสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งบริษัทมาแล้วกว่า 10 ปี ซึ่งพฤติการณ์ของขบวนการนี้ มีการกระทำความผิดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ มีการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยให้กลุ่มหนึ่งจัดบรรยายชักชวนผู้เสียหายในประเทศไทยให้หลงเชื่อร่วมลงทุนกับบริษัท และอีกกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่ในการยักย้ายถ่ายโอนเงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากผู้เสียหาย คดีนี้มีผู้เสียหายประมาณ 250 ราย เข้ามาร้องเรียนกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ มูลค่าความเสียหายประมาณ 235 ล้านบาท
 
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้สรุปสำนวนการสอบสวนเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาสั่งคดีแล้ว โดยได้ดำเนินการขอออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งหมดรวม 32 ราย ประกอบด้วย ชาวไทย 23 ราย และชาวต่างชาติ 9 ราย ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 เจ้าหน้าที่ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ต จับกุมนายเดอร์ริค แมทธิว เคเลอร์ สัญชาติอเมริกัน ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ขณะผู้ต้องหาดังกล่าวเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทยในฐานะนักท่องเที่ยว จากการสอบปากคำผู้ต้องหารายนี้ ทราบว่าประกอบอาชีพเป็นนักแสดงอิสระอยู่ที่ประเทศจีน ได้รับการว่าจ้างจากตัวการชาวสิงคโปร์ให้มาแสดงเป็นผู้บริหารบริษัท อีเกิ้ล เกทส์ กรุ๊ป จำกัด เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทฯ ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะได้ทำการสืบสวนขยายผลเพื่อดำเนินคดีกับตัวการชาวต่างชาติรายใหญ่ต่อไป
 
สำหรับคดีนี้มีการจับกุมผู้ต้องหาได้แล้วทั้งสิ้น 13 ราย เป็นชาวต่างชาติ 1 ราย และชาวไทย 12 ราย ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการประสานกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศเพื่อติดตามจับกุมผู้ต้องหาชาวต่างชาติ และจะได้เร่งติดตามผู้ต้องหาตามหมายจับที่เหลือต่อไป
 
ทั้งนี้ จากการสืบสวนสอบสวน พบว่ากลุ่มผู้กระทำผิดมีพฤติการณ์ในการปกปิดซ่อนเร้นและโยกย้ายทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด โดยพบว่าในระหว่างเกิดเหตุมียอดเงินหมุนเวียนในบัญชีธนาคารที่ใช้รับโอนเงินจากผู้เสียหายกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ถูกยักย้ายถ่ายโอนออกไปจนหมดหลังเกิดเหตุไม่นาน คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขยายผลดำเนินคดีในความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งปัจจุบันได้รับอนุมัติเป็นคดีพิเศษที่ 39/2561 อยู่ระหว่างสืบสวนขยายผลบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องและตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยมีการประสานข้อมูลร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และหน่วยงานต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
 
 
 

 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ