DSI จับมือจังหวัดกาฬสินธุ์ นำร่องเขตปลอดแชร์ลูกโซ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เผยแพร่: 8 มิ.ย. 2561 10:18 น. ปรับรุง: 8 มิ.ย. 2561 10:18 น. เปิดอ่าน 1264 ครั้ง  
 

DSI จับมือจังหวัดกาฬสินธุ์ นำร่องเขตปลอดแชร์ลูกโซ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

ในวันนี้ (วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2561) เวลา 10.30 น. กรมสอบสวนคดีพิเศษมีกำหนดร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กับจังหวัดกาฬสินธุ์ โดย นายเธียรชัย อัจฉริยพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ณ ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือแชร์ลูกโซ่ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ โดยจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดนำร่องเขตปลอดแชร์ลูกโซ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนากลไก เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการกระทำความผิดที่มีลักษณะอาชญากรรมพิเศษแชร์ลูกโซ่เป็นจังหวัดนำร่องเขตปลอดแชร์ลูกโซ่ โดยที่กรมสอบสวนคดีพิเศษและจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือแชร์ลูกโซ่ซึ่งมีการแพร่ระบาดเป็นจำนวนมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยความร่วมมือครั้งนี้เป็นการบูรณาการทำงานอย่างเป็นระบบทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมในการป้องปรามธุรกิจการเงินนอกระบบ โดยใช้กลไกคณะกรรมการป้องปรามธุรกิจการเงินนอกระบบและคณะอนุกรรมการป้องปรามธุรกิจการเงินนอกระบบในส่วนภูมิภาคระดับจังหวัด เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง สอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการจัดเวทีหลอกลวงฉ้อโกงประชาชน และสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการลงทุนและผลตอบแทนที่ควรได้รับในการลงทุนปกติ โดยมีภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามาเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง

 

แชร์ลูกโซ่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีรูปแบบการหลอกลวงให้เหยื่อสมัครเป็นสมาชิก เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจที่ไม่เน้นการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการ แต่จะอ้างว่ามีผลตอบแทนสูง โดยใช้วิธีนำเงินของผู้สมัครรายหลังไปจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ที่สมัครรายแรก ๆ และจะหยุดการจ่ายค่าตอบแทนในเวลาต่อมา แล้วปิดกิจการ พร้อมนำเงินที่ได้จากสมาชิกหนีไป ทำให้เกิดความเสียหายลุกลามใหญ่โตในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และหากเป็นเรื่องที่มีความเสียหายในวงกว้าง หรือกระทำผิดซับซ้อนก็จะเป็นคดีพิเศษที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวน
คดีพิเศษ

 

กรมสอบสวนคดีพิเศษมีแนวทางการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือแชร์ลูกโซ่ 3 ส่วนพร้อม ๆ กัน คือ (1) คดีอาญา ข้อหาฉ้อโกงประชาชน และการกระทำผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 (2) คดีความผิด

ทางอาญาฐานฟอกเงิน และ (3) คดีแพ่งตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน คดีล้มละลายเพื่อปราบปรามหยุดยั้งการกระทำความผิด นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และดำเนินการนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาเฉลี่ยคืนให้ผู้เสียหายได้ ทั้งนี้ ระหว่างปี พ.ศ. 2555 - 2560 มีคดีพิเศษเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษทั้งสิ้น 62 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 13,000 ล้านบาท

 

สิ่งสำคัญในการป้องกันและปราบปรามขบวนการแชร์ลูกโซ่ คือ การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนให้มีความรู้เท่าทันภัยดังกล่าว โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้พัฒนาแอพพลิเคชัน “แชร์ลูกโซ่” เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นของธุรกิจ ที่ตนเองจะไปลงทุนว่ามีสภาพเสี่ยงจะเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ โดยการดาวน์โหลดแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือของตนเอง และตอบคำถามตามแนวคำถามก็จะได้ผลลัพธ์ คือ ระดับความเสี่ยงในการเป็นแชร์ลูกโซ่เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ นอกจากนี้ ผู้เสียหายทั่วประเทศสามารถร้องทุกข์ ร้องเรียน ผ่าน 9 ช่องทางการสื่อสาร คือ (1) การติดต่อด้วยตนเองที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (2) การติดต่อผ่านเว็บไซต์ www.dsi.go.th (3) การยื่นหนังสือที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (4) ติดต่อผ่านสายด่วนหรือ Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) (5) การติดต่อผ่าน Messenger Facebook ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (6) การติดต่อผ่านแอพพลิเคชัน DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ (7) การติดต่อผ่านตู้สีขาว รับเรื่องราวร้องทุกข์ (8) การติดต่อทางไปรษณีย์ และ (9) การติดต่อผ่านศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 4 (จังหวัดขอนแก่น) ซึ่งรับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม สืบสวน สอบสวนคดีพิเศษ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มุกดาหาร สกลนคร นครพนม อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย เลย และบึงกาฬ โดยมีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 177/49 ถนนมิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000 โทร. 0 4346 8688

 

 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ