DSI ชี้แจงกรณีถูกกล่าวหาว่าการดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ล่าช้าเพราะมีผู้มีความเชี่ยวชาญด้านหลักทรัพย์ไม่สมดุลกับปริมาณงาน
เผยแพร่: 16 ม.ค. 2561 12:03 น. ปรับปรุง: 16 ม.ค. 2561 12:03 น. เปิดอ่าน 1204 ครั้ง
DSI ชี้แจงกรณีถูกกล่าวหาว่าการดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ล่าช้าเพราะมีผู้มีความเชี่ยวชาญด้านหลักทรัพย์ไม่สมดุลกับปริมาณงาน
ตามที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ประจำวันที่ 15 มกราคม 2561 คอลัมน์ชุมชนคนหุ้น ได้นำเสนอข้อมูลและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการดำเนินคดีอาญาในความผิดที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยมีสาเหตุสำคัญจากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำ คือ พนักงานสอบสวน กระทั่งปลายน้ำ คือ การพิจารณาคดี มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้นน้อยมาก โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษในฐานะหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานในเรื่องดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ที่รู้เรื่องตลาดหุ้นจำนวนจำกัดและผู้ที่มีความรู้ในเรื่องดังกล่าวก็ถูกมอบหมายงานจำนวนมากจนล้นมือ ทำให้แต่ละคดีล่าช้าเป็นส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาสอบสวนหลายปีจึงสอบสวนเสร็จ ทำให้มีคดีเกี่ยวกับตลาดหุ้นจำนวนมากค้างอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นั้น
กรมสอบสวนคดีพิเศษขอชี้แจงทำความเข้าใจต่อสาธารณชนว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นหน่วยงานที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญาที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประเทศในด้านต่างๆ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 รวมถึงการสืบสวนสอบสวนการกระทำผิดอาญาเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เฉพาะที่มีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจคือตลาดทุนด้วย โดยอยู่ในความรับผิดชอบของกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน และขอชี้แจงตามข่าวเป็นประเด็นดังนี้
1. กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงินมีบุคลากรในสังกัดจำนวน 42 คน โดยมีคดีพิเศษในความรับผิดชอบเฉลี่ย 12 คดีต่อปี และมีการสืบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนรับคดี เฉลี่ย 50 เรื่องต่อปี ในจำนวนดังกล่าวเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหลักทรัพย์ หรือปั่นหุ้น เฉลี่ย 3 คดีต่อปี ซึ่งตามสถิติคดีย้อนหลัง 5 ปี (พ.ศ. 2557 – 2560) พบว่ามีการดำเนินคดีความผิดในเรื่องการสร้างราคาหุ้น จำนวน 13 คดี จนถึงปัจจุบันนี้ สอบสวนเสร็จสิ้นส่งพนักงานอัยการแล้ว 12 คดี คงเหลืออยู่ระหว่างการสอบสวนเพียง 1 คดี ซึ่งเป็นคดีพิเศษที่เพิ่งรับคดีเมื่อเดือนตุลาคม 2560 และใช้ระยะเวลาสอบสวนในความผิดเรื่องนี้เฉลี่ยคดีละ 1 ปี 6 เดือน ก่อนสรุปสำนวนการสอบสวนส่งพนักงานอัยการ จากข้อมูลดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าจำนวนเจ้าหน้าที่และปริมาณงานมีความสมดุล การสอบสวนดำเนินคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษในเรื่องปั่นหุ้นไม่ได้ล่าช้า หรือมีคดีค้างจำนวนมากตามที่ปรากฏในข่าวแต่อย่างใด
2. ในการรับคดีความผิดเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ส่วนใหญ่จะเป็นการกล่าวโทษ โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ที่มีการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการในเรื่องที่พบว่า มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะมีลักษณะเป็นสหวิชาชีพ กล่าวคือประกอบด้วยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหลายด้าน รวมทั้งการเงิน การธนาคาร และหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ด้วย มีการดำเนินคดีในรูปแบบคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และมีอำนาจตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 30 ในการแต่งตั้งที่ปรึกษาคดีพิเศษเพื่อให้คำปรึกษาในคดีที่มีความซับซ้อน หรือเกี่ยวข้องกับเทคนิคเฉพาะด้านได้ ซึ่งในการดำเนินคดีที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด จึงชี้แจงมาเพื่อทราบ
คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ
16 มกราคม 2561