DSI ชี้แจงการดำเนินการ กรณีศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ ร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีอาญา เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

เผยแพร่: 29 ส.ค. 2561 10:49 น. ปรับรุง: 29 ส.ค. 2561 10:49 น. เปิดอ่าน 2933 ครั้ง  
 

DSI ชี้แจงการดำเนินการ กรณีศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ
ร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีอาญา เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

ด้วยปรากฏข่าวทางสื่อโซเชียลว่า เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 เวลาประมาณ 10.30 น. นางสาวกัลยาณี รุทระกาญจน์ เลขาธิการองค์กรสาธารณประโยชน์ ศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ และ
กลุ่มผู้เสียหาย จำนวน 12 คน ได้ให้ข่าวต่อสื่อมวลชน ณ โรงแรมมาดูซิ อโศก กรณีจะยื่นฟ้องอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษและเจ้าหน้าที่ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยระบุสาเหตุแห่งการฟ้องคดีว่า กลุ่มผู้เสียหายได้ร้องทุกข์กล่าวโทษขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีอาญาตามพระราชกำหนดบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 จำนวน 6 เรื่อง แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่ดำเนินการสืบสวนสอบสวน กลับใช้การตรวจสอบข้อเท็จจริงแทน เป็นการบิดเบือนการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ขัดขวางไม่ให้ผู้ร้องทุกข์เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ตัดตอนไม่ให้มีการดำเนินคดีอาญากับขบวนการฟอกเงิน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างร้ายแรง รวมทั้งกล่าวหาเจ้าหน้าที่ว่าภายหลังที่รับเรื่องไปแล้ว ไม่มีการใส่วันที่และเลขที่รับหนังสือ เท่ากับผู้เสียหายไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย

เพื่อให้สาธารณชนทราบข้อเท็จจริงและกระบวนการดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ในเรื่องดังกล่าว และป้องกันการบิดเบือนข้อมูล จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงโดยสรุปเป็นลำดับ ดังนี้

1. กรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และสอบสวน คดีพิเศษ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งคดีพิเศษมี 2 ประเภทหลัก คือ (1) คดีความผิดทางอาญาตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และคดีความผิด
ทางอาญาที่กำหนดเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงกำหนดคดีพิเศษ ซึ่งคดีดังกล่าวต้องมีลักษณะของการกระทำความผิดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ก) – (จ) และเฉพาะตามที่คณะกรรมการคดีพิเศษประกาศรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดไว้เท่านั้น และ (2) คดีอาญาอื่น นอกจากคดีพิเศษตาม (1) จะเป็นอำนาจของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ที่จะมีมติให้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นคดีพิเศษเฉพาะเรื่อง

2. กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ตรวจเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนางสาวกัลยาณีฯ และศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ พบว่าช่วง พ.ศ. 2559 - 2560 นางสาวกัลยาณีฯ ทั้งในฐานะส่วนตัว และในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ ได้ยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษขอให้ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ธนาคารพาณิชย์/สถาบันการเงิน บริษัทบริหารสินทรัพย์ และกรรมการที่เกี่ยวข้อง ในความผิดอาญาฐานต่าง ๆ รวม 7 เรื่อง และมอบเรื่องทั้งหมดให้สำนักคดีการเงินการธนาคาร (ขณะนั้น) ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานว่าเป็นคดีพิเศษหรือไม่ โดยรับเป็นสำนวนตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ 89/2559, ที่ 90/2559, ที่ 109/2559, ที่ 199/2559, ที่ 226/2559, ที่ 239/2559, ที่ 270/2559 และที่ 7/2560 รวม 8 สำนวน

                    3. จากการตรวจสอบของสำนักคดีการเงินการธนาคาร พบว่าที่มาของเรื่องสืบเนื่องจากผู้ร้องกับพวก ได้ทำสัญญาขอกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินโดยใช้ทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2540 ประเทศไทยเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ทำให้สถาบันการเงินต่าง ๆ มีการขายทรัพย์สินด้อยคุณภาพ (ลูกหนี้ที่มีการผิดชำระหนี้) ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ โดยได้โอนทั้งสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อนำไปเรียกเก็บและรับชำระหนี้ที่เกิดขึ้นต่อไป ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ต่อมาผู้ร้องกับพวก ถูกบังคับชำระหนี้ซึ่งเห็นว่าไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้ผู้ร้องเห็นว่าตนได้รับความเสียหาย จึงมีการร้องทุกข์/กล่าวโทษให้ดำเนินคดีอาญากับสถาบันการเงินต่าง ๆ และกรรมการผู้มีอำนาจในความผิดทางอาญาและความผิดฐานฟอกเงิน รวมถึงได้กล่าวโทษเจ้าพนักงานของรัฐกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

                    4. คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักคดีการเงินการธนาคาร ได้ตรวจสอบข้อมูลตามคำร้องและมีหนังสือประสานงานและส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ผู้ร้องร้องทุกข์/กล่าวโทษ ดังนี้

(1) กรณีกล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐ ในความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งเรื่องยังสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือแจ้งผลการดำเนินการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทราบ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินการไต่สวนต่อไปได้ จึงมีมติไม่รับเรื่องไว้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง สำหรับในส่วนของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เจ้าพนักงานที่ดิน และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 แจ้งว่า เรื่องยังอยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน

(2) กรณีกล่าวหาว่าสถาบันการเงินผู้ถูกกล่าวหา ชำระภาษีอากรไม่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งเรื่องไปยังกรมสรรพากรเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งต่อมากรมสรรพากรมีหนังสือลงวันที่ 20 กันยายน 2560 แจ้งผลการตรวจสอบการชำระภาษีอากร สรุปได้ความว่า สถาบันการเงินต่าง ๆ (ผู้ถูกกล่าวหา) ได้ดำเนินการไปตามกฎหมายและระเบียบแล้ว และมีพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 บังคับใช้ จึงได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากรและความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร

(3) คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง สำนักคดีการเงินการธนาคาร ได้เชิญผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสภาวิชาชีพการบัญชี กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย มาให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการ โดยจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้น พบว่ายังไม่มีมูลกรณีหรือพยานหลักฐานเพียงพอที่จะกล่าวหาดำเนินคดีอาญากับสถาบันการเงินและบุคคลที่เกี่ยวข้องในความผิดทางอาญาและความผิดฐานฟอกเงินตามที่ผู้กล่าวหาทำการร้องเรียน

ต่อมา นางสาวกัลยาณีฯ ได้มีหนังสือร้องเรียนและขอความเป็นธรรมเพื่อให้ตรวจสอบ
การดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้ร้องกับผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมและ
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันว่า เห็นควรมอบหมายผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการกรณีดังกล่าวต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ และได้กำชับแลเร่งรัดการดำเนินการโดยเร็วเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

อนึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้มอบหมายให้กองกฎหมายวิเคราะห์คำฟ้องว่าเป็นไปตามข้อเท็จจริงและเป็นเหตุให้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือผู้ใดผู้หนึ่งเสียหายหรือไม่ และพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณีต่อไป

จึงประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบทั่วกัน

คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ

28 สิงหาคม 2561

 

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ