DSI บุกจับแหล่งจำหน่ายและแหล่งเก็บสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทเสื้อผ้ากีฬาปลอมเครื่องหมายการค้ายี่ห้อดังย่านปทุมวันและโบ๊เบ๊ มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท

เผยแพร่: 11 พ.ย. 2558 14:28 น. ปรับรุง: 11 พ.ย. 2558 14:28 น. เปิดอ่าน 1950 ครั้ง  
 

 

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 เวลา 11.30 น.

พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยพันตำรวจเอก ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

นางกรรณิกา ริมโพธิ์เงิน รองผู้บัญชาการ และรักษาราชการแทนผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา และพันตำรวจโท สุมิตร ชโนวิทย์

ผู้อำนวยการส่วนคดีทรัพย์สินทางปัญญา 1 ได้ร่วมกันแถลงข่าวการตรวจค้นจับกุมแหล่งจำหน่ายและสถานที่เก็บสินค้าประเภทเสื้อผ้ากีฬาปลอมเครื่องหมายการค้ารายใหญ่ย่านปทุมวันและโบ๊เบ๊ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศและกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง โดยมีรายละเอียดการจับกุม ดังนี้

 

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 เวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าหน้าที่ของสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ได้ร่วมกันนำหมายค้นของศาลทรัพย์สิน

ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเข้าทำการตรวจค้นร้านจำหน่ายเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่และที่เก็บสินค้าย่านปทุมวันและโบ๊เบ๊ รวม 9 จุดด้วยกัน โดยเป็นร้านจำหน่ายสินค้า 5 ร้าน ได้แก่ ร้านนานาภัณฑ์ (จุฬา), ร้าน 9 นานา, ร้านดาวสปอร์ต, ร้านซุปเปอร์แมน ถนนบรรทัดทอง แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ และร้านนานาภัณฑ์ (โบ๊เบ๊) ชั้น 2 ศูนย์การค้าวันแอทโบ๊เบ๊ ถนนดำรงรักษ์ แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ซึ่งแต่ละร้านจะมีที่เก็บสินค้าอยู่ด้านในและชั้นบน และตรวจค้นห้องเก็บสินค้า 4 ห้อง ได้แก่ ห้องเลขที่ 299/233, 299/224, 299/30, ห้องชื่อโบ๊เบ๊โอเค ไม่มีเลขที่ ศูนย์การค้าวันแอทโบ๊เบ๊ ถนนดำรงรักษ์ แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 

 

ผลการตรวจค้นพบของกลางประเภทเสื้อและกางเกงกีฬาปลอมเครื่องหมายการค้าของสโมสรชั้นนำในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ซึ่งเปิดฤดูกาลใหม่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อาทิ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (Manchester United), ลิเวอร์พูล (Liverpool), เชลซี (Chelsea) ตลอดจนชุดกีฬายี่ห้ออื่นๆ เช่น ไนกี้ (NIKE)      อดิดาส (ADIDAS) พูม่า (PUMA) ฯลฯ รวมจำนวน 20,705 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท จึงได้ยึดเป็นของกลางและจับกุม นางสาวภิชญาพร ซื้อนิธิไพศาล, นางสาวณัฐกาญจน์ สุขสวัสดิ์, นายขรรค์ชัย ติยาภรณ์มณี และนายรุ่งโรจน์ อมรชัยทรัพย์

เป็นผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยกล่าวหาว่า เสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้ว ในราชอาณาจักร ซึ่งจากการสืบสวนทราบว่าร้านค้าดังกล่าวเป็นขบวนการลักลอบจำหน่ายเสื้อผ้ากีฬาปลอมเครื่องหมายการค้ารายใหญ่ โดยจำหน่ายทั้งปลีกและส่งทั่วประเทศมาเป็นเวลานาน  

อนึ่ง ประเทศไทยถูกสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) จัดลำดับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ อยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยถูกมาตรการตอบโต้ทางการค้าจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางการค้าอย่างมากจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่จะต้องปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาของประเทศดังกล่าว

 

 

 

 

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ