DSI บูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงาน เข้าตรวจสอบการบุกรุกป่าของรังเย็นรีสอร์ท จังหวัดเลย
เผยแพร่: 5 ก.ย. 2561 10:09 น. ปรับรุง: 5 ก.ย. 2561 10:09 น. เปิดอ่าน 1960 ครั้ง
สืบเนื่องจาก กรมป่าไม้ได้ร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้ดำเนินคดีกับบริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในความผิด ร่วมกันบุกรุกป่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 เนื้อที่ประมาณ 6,000 กว่าไร่ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 56/2561 จากนั้นจึงได้ประสานขอรับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 15/2561 จากสถานีตำรวจภูธรโคกงาม มาเป็นพยานหลักฐานในคดีพิเศษนี้
จากการสอบสวนพบว่า พื้นที่เกิดเหตุเคยมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 147 แปลง รวมเนื้อที่ 6,229 ไร่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีความเห็นสั่งฟ้อง และทราบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มีการหลบหนี ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ยังไม่มีการดำเนินคดีกับผู้ยึดถือครอบครองที่ดิน ในความผิดบุกรุกป่าแต่อย่างใด ต่อมา กรมที่ดิน ได้มีคำสั่งเพิกถอน น.ส.3 ก. ดังกล่าวทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า เป็นการออก น.ส.3 ก. โดยใช้หลักฐาน ส.ค.1 ของที่ดินแปลงอื่นมาเป็นหลักฐานในการออก
นอกจากนี้ ยังได้มีการออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 9516 ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของรังเย็นรีสอร์ท หมู่ 7 ตำบลโคกงาม อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และปัจจุบัน กรมที่ดินได้มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดิน ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2462/2561 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 จึงทำให้พื้นที่บริเวณรังเย็นรีสอร์ท เป็นพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับกรมป่าไม้ บินถ่ายภาพทางอากาศในบริเวณพื้นที่เกิดเหต พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ มีการเข้าครอบครองทำประโยชน์ มีสิ่งปลูกสร้าง มีพืชผลทางการเกษตร ได้แก่ ต้นแมคคาดาเมียร์ ต้นยูคาลิปตัส ผลไม้อื่นๆ มีการสร้างอ่างเก็บน้ำ ถนน ตลอดจนมีระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา เข้าไปถึงในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าพื้นที่ที่อยู่นอก น.ส.3 ก. มีร่องรอยการถูกบุกรุกเพิ่มเติมอีกด้วย
ล่าสุด ในวันนี้ (วันอังคารที่ 4 กันยายน 2561) เวลา 09.30 น. กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมกับพ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หน.ชป.ศปบ.4 กอ.รมน., นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผอ.สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า, กรมป่าไม้, ลกรมที่ดิน, กรมพัฒนาที่ดิน และเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ ร่วมกันเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ และสอบสวนพยานบุคคลที่ถูกกล่าวอ้าง เพื่อประกอบการสอบสวนในคดีนี้ต่อไป
ทั้งนี้ “การทวงคืนผืนป่า” ถือเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล, กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะนำทรัพย์สินซึ่งเป็นของแผ่นดิน ที่มีการนำไปยึดถือครอบครองเป็นของส่วนตัว กลับมาเป็นสมบัติของประเทศชาติต่อไป