DSI ยืนยัน ครม.โยกย้ายรองอธิบดี เป็นการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นเน้นย้ำ “คดีบิลลี่” โปร่งใส - ไม่มีการแทรกแซง 

เผยแพร่: 22 ต.ค. 2562 13:51 น. ปรับรุง: 22 ต.ค. 2562 13:51 น. เปิดอ่าน 1948 ครั้ง  
 

DSI ยืนยัน ครม.โยกย้ายรองอธิบดี เป็นการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นเน้นย้ำ “คดีบิลลี่” โปร่งใส - ไม่มีการแทรกแซง 

ตามที่ปรากฏเป็นข่าว กรณี คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 โดยแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงของกระทรวงยุติธรรม 4 ราย ประกอบด้วย พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร รองธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายพยนต์ สินธุนาวา รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ และนายมณฑล แก้วเก่า รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรมว่า เป็นการโยกย้ายให้พ้นหน้าที่การเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 13/2562 (คดีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่) นั้น

พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า การแต่งตั้งโยกย้ายตามมติ ครม.ดังกล่าว เป็นการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นเทียบเท่าอธิบดี ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอีกระดับหนึ่งของข้าราชการ โดยพันตำรวจโท กรวัชร์ ฯ ได้สมัครใจเข้ารับการคัดเลือกตามประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เรื่อง รับสมัครคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือก เพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงยุติธรม ลงวันที่ 20 กันยายน 2562 จึงมิได้เป็นการโยกย้ายให้พ้นหน้าที่การเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษคดีการหายตัวไปของนายพอละจี แต่อย่างใด

“ขอให้สาธารณชนอย่าได้เข้าใจคลาดเคลื่อน และขอให้มั่นใจการทำงานแบบสหวิชาชีพของกรมสอบสวนคดีพิเศษในรูปแบบคณะกรรมการ โดยปราศจากแทรกแซง ซึ่งประกอบด้วย พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีพันตำรวจโท เชน กาญจนาปัจจ์ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ตามคำสั่งเดิมที่มีอยู่แล้ว และยังไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

แต่จะมี รองอธิบดีท่านอื่น ซึ่งกำกับดูแล การทำงานของกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค มาทำหน้าที่แทน พันตำรวจโท กรวัชร์ ฯ ตามสายบังคับบัญชา ทั้งนี้ คดีหายตัวไปของนายพอละจี ฯ เป็นคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษให้ความสำคัญ โดยตัวผมเองจะเข้าไปกำกับดูแลการทำงานอย่างใกล้ชิดด้วย"

อย่างไรก็ตาม กรมสอบสวนคดีพิเศษ อาจเชิญพันตำรวจโท กรวัชร์ ฯ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษ เนื่องจากพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ 2547 ได้เปิดกว้างในการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษใด มีเหตุจำเป็นต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นพิเศษ อธิบดีกรมสอบสวนอาจแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นเป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษได้

คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ

16 ตุลาคม 2562

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ