DSI ร่วมกับจังหวัดชลบุรี ปฏิบัติการตรวจค้น จับกุม สถานประกอบการจำหน่ายอาหารปลอมประเภทรังนก หลอกลวงนักท่องเที่ยว
เผยแพร่: 10 ส.ค. 2560 16:54 น. ปรับรุง: 10 ส.ค. 2560 16:54 น. เปิดอ่าน 2766 ครั้งDSI ร่วมกับจังหวัดชลบุรี ปฏิบัติการตรวจค้น จับกุม
สถานประกอบการจำหน่ายอาหารปลอมประเภทรังนก หลอกลวงนักท่องเที่ยว
ตามที่ กระทรวงยุติธรรมได้มีนโยบายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดซึ่งส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายให้กับประชาชนผู้บริโภค นั้น
กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการปราบปรามขบวนการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ในวันนี้ (วันพุธที่ 9 สิงหาคม 2560) พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้ พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจโท มนตรี บุณยโยธิน ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ สนธิกำลังร่วมกับจังหวัดชลบุรี กองร้อยรักษาความสงบอำเภอบางละมุง กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 พัน1 รอ.) มณฑลทหารบกที่ 14 (มทบ.14) ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดชลบุรี สถานีตำรวจท่องเที่ยว 4 กองกำกับการ 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี รวมถึงได้รับการสนับสนุนนักศึกษาชาวจีนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครเพื่อเป็นล่ามแปลภาษา ได้นำหมายจับและหมายค้นเข้าจับกุมและตรวจค้นสถานประกอบการต้องสงสัย ตามที่อดีตประธานสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจรังนกนางแอ่น (ประเทศไทย) ร้องเรียนว่ามีการจำหน่ายรังนกปลอมให้แก่นักท่องเที่ยวซึ่งเป็นกรุ๊ปทัวร์จากประเทศจีน มายังกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อดำเนินการ รวมเป็นคดีพิเศษ 9 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ร้านพาราไดซ์ หูฉลาม 2.ร้านกินรี 3.ร้านพัทยา สตาร์ สปา แอนด์ มาสซาส 4.ร้านจิงกง 5.ร้านอาหารจีน ซิน ไห จิง (โรงแรมนิว ซีวิว) 6.ร้านอาหารจีน ฉางเฮา หูฉลาม 7.ร้านอาหารจีน เฮง เฮง หูฉลาม 8.ร้านอาหารเวียดไทย 9.ร้านล้านคนรู้จัก
ด้วยความเชื่อว่า รังนกนางแอ่นช่วยเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ทำให้รังนกเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย แต่เนื่องจากรังนกแท้มีราคาสูง จึงมีผู้ประกอบการหลายรายได้นำยางไม้หรือยางคารายาหรือกัมคารายา (Karaya Gum) ซึ่งมีราคาถูกใช้ทดแทนรังนกปรุงเป็นอาหาร โดยที่ผ่านมา จากการล่อซื้อตัวอย่างอาหารร้านเป้าหมาย จำนวน 3 ครั้ง นำส่งตรวจเอกลักษณ์กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ตัวอย่างอาหารรังนกบรรจุในลูกมะพร้าว ไม่ใกล้เคียงกับ Infrared Spectrum ของรังนกนางแอ่น แต่ใกล้เคียงกับยางไม้
ชุดปฏิบัติการดังกล่าวนำโดย พันตำรวจโท ประวุธฯ ได้ลงปฏิบัติการในพื้นที่โดยมีหมายจับผู้กระทำความผิดและหมายค้น จำนวน 4 ร้าน ประกอบด้วย ร้านพาราไดซ์ หูฉลาม ร้านกินรี ร้านพัทยา สตาร์ สปา แอนด์ มาสซาส และร้านจิงกง ส่วนอีก 5 ร้านที่เหลือมีหมายค้นเพื่อเก็บพยานหลักฐานนำไปใช้ในการขยายผลต่อไป โดยพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการมีความผิดฐานผลิตอาหารปลอม, ฐานจำหน่ายอาหารปลอม ตามมาตรา 25 (2) ประกอบมาตรา 27 (2) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 รวมทั้งฐานปลอมปนอาหารเพื่อจำหน่ายหรือเสนอขายบุคคลเสพย์ ตามมาตรา 236 ประมวลกฎหมายอาญา
การกระทำของผู้กระทำผิดดังกล่าว นอกจากจะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย ทำให้ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง อีกทั้งจากการให้ข้อมูลของอดีตประธานสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจรังนกนางแอ่น (ประเทศไทย) พบว่าการลักลอบจำหน่ายรังนกปลอมให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบธุรกิจรังนกแท้เป็นอย่างมาก โดยมูลค่าความเสียหายของธุรกิจรังนกทั้งระบบในประเทศไทย เสียหายมากกว่า 4,000 ล้านบาท/ปี อันกระทบต่อระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ และหากสืบสวนสอบสวนขยายผลมีหลักฐานพบว่า การจำหน่ายอาหารปลอมให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มีการแบ่งหน้าที่กันทำโดยผู้ประกอบการ ผู้นำเที่ยวหรือบริษัททัวร์ โดยการกำหนดตารางการซื้อขายสินค้าเอาไว้ล่วงหน้า แบ่งปัน ผลกำไร มีการวางแผนหลอกลวงนักท่องเที่ยวตั้งแต่ประเทศต้นทาง จะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนอีกด้วยการกระทำดังกล่าวจึงสมควรที่จะต้องดำเนินการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาด เพื่อเป็นการดูแลนักท่องเที่ยวชาวจีนไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบต่อไป