DSI รับคดี “แชร์แม่มณี”เป็นคดีพิเศษแล้ว จับมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติระดมสอบปากคำผู้เสียหายทั่วประเทศ เร่งอายัดทรัพย์เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย

เผยแพร่: 1 พ.ย. 2562 18:51 น. ปรับรุง: 1 พ.ย. 2562 19:08 น. เปิดอ่าน 4740 ครั้ง  
 

DSI รับคดี “แชร์แม่มณี”เป็นคดีพิเศษแล้ว จับมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติระดมสอบปากคำผู้เสียหายทั่วประเทศ เร่งอายัดทรัพย์เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย

สืบเนื่องจากกรณี กลุ่มประชาชนผู้เสียหายได้เข้ายื่นเรื่องต่อศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข กระทรวงยุติธรรม ที่จัดตั้งขึ้นตามข้อสั่งการของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำตามนโยบายรัฐบาล โดยร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีอาญา กรณีการชักชวนออมเงินผ่านทางโซเชียลมีเดียร์ ในชื่อ“แชร์แม่มณี” จนมีผู้เสียหายกว่า 1,800 คน มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นกว่าสี่ร้อยล้านบาท ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้พิจารณาข้อเท็จจริงและหลักฐานแล้วเห็นว่าเข้าข่ายการกระทำความผิดฐาน “ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” หรือแชร์ลูกโซ่ ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และมีลักษณะเป็นคดีพิเศษ ตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ล่าสุด อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีคำสั่งให้เป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 เพื่อดำเนินการสืบสวนและสอบสวนคดีดังกล่าวตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 แล้ว

ภายหลังจากมีคำสั่งให้สอบสวนเป็นคดีพิเศษแล้ว พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบและคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบบัญชี ธุรกรรมทางการเงิน และทรัพย์สินของผู้ต้องสงสัยในทันที รวมทั้งเร่งอายัดทรัพย์สินไว้เพื่อพิจารณาว่าส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และให้ประสานสำนักงาน ปปง. เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายตามกฎหมายควบคู่ไปกับการสอบสวนดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดด้วย นอกจากนั้น ในวันนี้ (วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2562) เวลา 13.00 น. ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษและผู้บริหาร ได้เข้าพบและหารือกับ พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมสอบสวนคดีพิเศษ ภายใต้พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 22 ในการสนับสนุนการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. ขอให้แจ้งพนักงานสอบสวนในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำรวจว่าได้มีการรับคำร้องทุกข์หรือดำเนินการสอบสวนคดีอาญา กรณีกล่าวหาว่า นางสาววันทนีย์ หรือเดียร์ ทิพย์ประเวช กับพวกได้ร่วมกันกระทำความผิดฐาน “ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 กรณีดำเนินธุรกิจ “แชร์แม่มณี” ไว้หรือไม่ หากมีการรับไว้ดำเนินการ ขอให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนส่งมอบสำนวนการสืบสวนสอบสวนพร้อมพยานหลักฐานมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ภายในสิบห้าวัน และกรมสอบสวนคดีพิเศษจะจัดให้มีการหารือเกี่ยวกับรายละเอียดที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างพนักงานสอบสวนคดีพิเศษผู้รับผิดชอบสำนวนการสอบสวนต่อจากพนักงานสอบสวนต่อไป

2. เนื่องจากคดีนี้มีผู้เสียหายกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษไม่อาจรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานได้โดยลำพัง จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือพนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ในการรับคำร้องทุกข์และสอบสวนปากคำผู้เสียหาย รวมถึงรวบรวมหลักฐานประกอบคำให้การผู้เสียหาย ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะกำหนดประเด็น แบบคำให้การ รวมถึงช่วงระยะเวลาที่กำหนดให้ผู้เสียหายเข้าพบพนักงานสอบสวน และส่งมอบให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษรวบรวมและดำเนินการสอบสวนต่อไป รวมทั้งประสานความร่วมมือในการสืบสวนและติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีนี้นำส่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเพื่อดำเนินคดี และการดำเนินการอื่น
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่าที่จำเป็น

ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะเร่งรัดจัดทำแบบคำให้การภายใต้พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และหลักฐานที่จำเป็นต้องรวบรวมจากผู้เสียหาย แจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อกระจายไปยังพนักงานสอบสวนทุกท้องที่ หลังจากนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษจะออกประกาศแจ้งกำหนดช่วงเวลาที่ให้ผู้เสียหายเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้ถ้อยคำ ซึ่งอาจมีกำหนดไม่เกิน 15 วัน เพื่อมิให้เป็นการเพิ่มภาระแก่พนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติจนเกินสมควร จากนั้นจึงรวบรวมส่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อดำเนินการต่อไป

การดำเนินการดังกล่าวข้างต้น เป็นการบูรณาการภายใต้พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ตามนโยบายรัฐบาล และนโยบายของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อันเป็นการปฏิรูปการทำงานระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนไม่ให้ต้องเดือดร้อนในการเดินทางเพื่อมาให้การต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และเป็นการบูรณาการทรัพยากรในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมสำคัญ ทั้งนี้ ผู้เสียหายทุกท่านยังสามารถลงทะเบียนข้อมูลผ่านระบบคิวอาร์โค้ดมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เช่นเดิมเพื่อจะได้มีข้อมูลสอบทานจำนวนผู้เสียหายและความเสียหาย และกรมสอบสวนคดีพิเศษขอย้ำเตือนไปยังผู้เสียหายและพยาน ขอให้ร่วมมือให้ข้อเท็จจริงแก่เจ้าหน้าที่เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะผู้เสียหาย ขอให้ดำเนินการตามคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ขอให้มาแจ้งความร้องทุกข์ หากไม่ดำเนินการแล้วภายหลังมีการเฉลี่ยทรัพย์ก็จะเสียสิทธิ อีกทั้งการดำเนินคดีอาญาภายหลังจากที่มีการสอบสวนคดีนี้เสร็จสิ้นไปแล้วอาจมีปัญหาในข้อกฎหมาย ทั้งนี้ หากท่านมีเบาะแสในเรื่องดังกล่าว สามารถแจ้งเบาะแสมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือโทรสายด่วน DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะรักษาข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ

จึงประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

 

คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ

       1 พฤศจิกายน 2562

 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ