DSI เตือนภัยมิจฉาชีพทำเว็บไซต์ “แจ้งความออนไลน์ปลอม”

เผยแพร่: 25 ก.ค. 2566 10:59 น. ปรับรุง: 27 ก.ค. 2566 14:04 น. เปิดอ่าน 7002 ครั้ง   EN
 

DSI เตือนภัยมิจฉาชีพทำเว็บไซต์ “แจ้งความออนไลน์ปลอม”

                                                                               
         ​​​ในเรื่องนี้สืบเนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ตรวจพบว่ามีมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนที่มีความประสงค์จะแจ้งความทางออนไลน์ โดยได้มีการจัดทำเว็บไซต์สำหรับ “แจ้งความออนไลน์ปลอม” ขึ้น จำนวน 2 เว็บไซต์ ซึ่งไม่ใช่เว็บไซต์ทางการของ DSI (ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.lawyerth.co.in และwww.dsi1.tech) ซึ่งเมื่อประชาชนคลิกบนเว็บไซต์ดังกล่าวแล้ว จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลให้เข้าไปพูดคุยปรึกษาคดีทาง line@ ปลอม ที่มิจฉาชีพแสดงตนเป็นทนายความ/ผู้รับแจ้งความ และหลอกให้ส่งข้อมูลหลักฐานที่ถูกฉ้อโกง เช่น ประวัติการสนทนา สลิปการโอนเงิน ซึ่งอาจมีการหลอกลวง โดยทำให้ผู้หลงเชื่อโอนเงินค่าใช้จ่ายหรือค่าดำเนินการแจ้งความต่าง ๆ หรือหากมีการกดลิงก์ต่าง ๆ ไป มิจฉาชีพอาจมีการรีโมทเข้ามาบังคับเครื่องโทรศัพท์ของเรา แล้วทำธุรกรรมถอนเงินออกไป ก่อให้เกิดความเสียหายทางทรัพย์สินแก่ประชาชนที่หลงเชื่อ
       ​กรมสอบสวนคดีพิเศษขอเน้นย้ำอีกครั้ง ว่าช่องทางการติดต่อสื่อสารทางออนไลน์ มีเพียง 6 ช่องทาง เท่านั้น คือทางเว็บไซต์ www.dsi.go.th และทาง Facebook “DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ”, Youtube , Instragram, Twitter และ Tiktok  ซึ่งได้มีการเผยแพร่ QR Code ไว้ที่หน้าเว็บไซต์ทางการของกรมสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าวแล้ว

        ​สำหรับเว็บไซต์ที่ติดต่อเพื่อร้องเรียน ร้องทุกข์ แจ้งเบาะแส หรือติดตามสถานะความคืบหน้าทางคดี คือเว็บไซต์ www.dsi.go.th เท่านั้น และขอให้ข้อสังเกตแก่ประชาชนว่า หากได้รับลิงก์เว็บไซต์ที่ต้องสงสัย ขอให้ตรวจสอบชื่อเว็บไซต์ที่ลงท้ายก่อนทุกครั้ง เว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐบาล ส่วนราชการ กระทรวง/กรม จะลงท้ายด้วย .go.th ย่อมาจาก Government of Thailand ​และจะไม่มีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษติดต่อผู้เสียหายให้แจ้งความออนไลน์ทาง Line@ หรือให้โหลดแอปพลิเคชัน หรือให้โอนเงินเป็นค่าดำเนินการใด ๆ เพราะฉะนั้นขอประชาชนอย่าหลงเชื่อ โดย Line@ ที่เป็นทางการ หรือ Line Official ของกรมสอบสวนคดีพิเศษมีเพียงไลน์เดียว คือ Line @checkdidsi เฉพาะกิจแชร์ลูกโซ่ ซึ่งกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบได้พัฒนานวัตกรรมนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยประชาชนประเมินความเสี่ยงก่อนที่จะนำเงินไปร่วมลงทุนธุรกิจใด ๆ ว่าเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันก่อนที่จะเกิดความเสียหายขึ้น​​​​​

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ