DSI ให้การต้อนรับอธิบดีกรมอัตลักษณ์บุคคล กระทรวงมหาดไทยแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาและเจ้าหน้าที่ UNHCR ในการศึกษาดูงานด้านการแก้ไขปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ

เผยแพร่: 23 ก.ย. 2567 9:49 น. ปรับรุง: 23 ก.ย. 2567 14:23 น. เปิดอ่าน 21 ครั้ง   EN
 

     เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการกองกิจการอำนวยความยุติธรรม และคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ พลโท ดอกเตอร์ ต็อป เนธ อธิบดีกรมอัตลักษณ์บุคคล กระทรวงมหาดไทยแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และคณะเจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNHCR) ร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่ กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 1 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ
วัตถุประสงค์ของการเยี่ยมคารวะและศึกษาดูงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน และหารือแนวทางความร่วมมือในด้านการแก้ไขปัญหาภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติร่วมกัน ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล ได้กล่าวต้อนรับคณะผู้มาเยือน จากนั้น ผู้อำนวยการกองกิจการอำนวยความยุติธรรม ได้บรรยายสรุปภาพรวมภารกิจกรมสอบสวนคดีพิเศษและนำเสนอแผนบูรณาการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงยุติธรรม ในการนำความยุติธรรมเข้าหาประชาชนอย่างทั่วถึงและถ้วนหน้า ภายใต้แนวคิดการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และแนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เกิดขึ้นภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการที่ถูกต้อง แนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ใช้ทักษะความเชี่ยวชาญในการสอบปากคำ มาปรับใช้ในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงานในการสอบปากคำพยานตามกฎหมาย รวมไปถึงการลงพื้นที่ไปยังถิ่นฐานที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสำรวจปัญหา อันเป็นบทบาทสำคัญในการสนับสนุนหน่วยงานรัฐ เช่น กรมการปกครอง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นต้น รวมไปถึงเครือข่ายภาคเอกชน อาทิ มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล Plan International และสำนักงาน UNHCR พลโท ดอกเตอร์ ต็อป เนธ กล่าวขอบคุณคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ให้การต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่ของกรมอัตลักษณ์บุคคล ซึ่งกรมอัตลักษณ์บุคคล รับผิดชอบเกี่ยวกับการออกใบสูติบัตร ทะเบียนสมรส บัตรประชาชน และการพิจารณาให้สัญชาติ ทั้งนี้ จะนำสิ่งที่กรมสอบสวนคดีพิเศษไปปรับใช้กับการดำเนินการให้ความช่วยเหลือคนพื้นถิ่นที่อยู่เดิม และผู้อพยพเข้ามาในดินแดนของกัมพูชาต่อไป ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล กล่าวเสริมว่า ปัญหาสถานะบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องอาศัยการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความยินดีที่จะร่วมมือกับกรมอัตลักษณ์บุคคล ในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

เอกสารที่เกี่ยวข้อง