กรมสอบสวนคดีพิเศษ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 22 มุ่งมั่นปราบปราบอาชญากรรมพิเศษ เป็นที่พึ่งของประชาชน

เผยแพร่: 4 ต.ค. 2567 16:11 น. ปรับรุง: 5 ต.ค. 2567 18:22 น. เปิดอ่าน 439 ครั้ง   EN
 

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 22

มุ่งมั่นปราบปราบอาชญากรรมพิเศษ เป็นที่พึ่งของประชาชน


          วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2567) ณ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะผู้บริหาร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมกันทำบุญถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ จำนวน 11 รูป เพื่อความเป็นศิริมงคล เนื่องในวันครบรอบวันสถาปนากรมสอบสวนคดีพิเศษ ปีที่ 22  และได้ปฏิญาณตน “ข้าราชการและบุคลากร DSI ไร้ทุจริต” โดยประกาศคำมั่นสัญญา และแสดงเจตนารมณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ “ซื่อสัตย์ สุจริต” มุ่งมั่นในการป้องกันการทุจริต

และประพฤติมิชอบ  พร้อมยืนหยัดเคียงข้างพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษอำนวยความยุติธรรม ปกป้องผลประโยชน์และความผาสุกของสังคมโดยรวม และดำรงตนตามเจตนารมณ์ “เกียรติศักดิ์ เชี่ยวชาญ ซื่อสัตย์” โดยได้รับเกียรติจาก พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. ผู้บริหารระดับกระทรวง อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตผู้บริหารของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าร่วมแสดงความยินดีด้วย และได้ร่วมบริจาคเงินมอบให้กองทุนสวัสดิการกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านสวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่ต่อไป

          กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2545 มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “DEPARTMENT

OF SPECIAL INVESTIGATION” หรือ “DSI” นับตั้งแต่การจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษจนถึงปัจจุบัน ได้ปฏิบัติหน้าที่อันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ สามารถปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญาที่เป็นคดีพิเศษ อำนวยความยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จนมีผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน

โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 204 คดี มูลค่าความเสียหายและผลประโยชน์ที่สามารถรักษาเรียกคืนแก่รัฐ ประชาชนและเอกชน รวมทั้งสิ้นกว่าห้าหมื่นแปดพันล้านบาท มีการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งมีคดีที่สำคัญ อาทิ การลักลอบนำเข้ารถยนต์หรูเลี่ยงภาษีและรถถูกโจรกรรมจากต่างประเทศ มูลค่าความเสียหาย 1,800 ล้านบาท ส่งรถที่ถูกโจรกรรมคืน จำนวน 31 คัน ขบวนการลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (หมูเถื่อน) มูลค่าความเสียหาย 460 ล้านบาท ดำเนินคดีกับหน่วยงานเอกชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 12 คดี คดีทุจริตของกรรมการบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่าความเสียหาย 14,778 ล้านบาท ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 11 ราย บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) มูลค่าความเสียหาย 800 ล้านบาท ฉ้อโกงประชาชนโดยการเทรดเงินตราต่างประเทศผ่านโบรกเกอร์ UAG Trade ลงทุนผ่านบริษัท ลีโอไนน์ โกลบอล จำกัด มูลค่าความเสียหาย 225 ล้านบาท บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่าวนางและป่าหางนาค จำนวน 4 คดี บุกรุกพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขากมลา มูลค่าความเสียหาย 100 ล้านบาท ขบวนการลักลอบจัดหาหญิงไทยเพื่อรับจ้างตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินคดีกับ 8 ตำรวจ สภ.สระแก้ว กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ (ลุงเปี๊ยก) เป็นต้น

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ