ดีเอสไอ ร่วมกับมูลนิธิ LPN และ IJM เข้าช่วยเหลือหญิงสาวชาวพม่าถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส 13 ปี โดยไม่เคยได้รับเงินเดือน
เผยแพร่: 5 ธ.ค. 2564 18:41 น. ปรับรุง: 27 ม.ค. 2565 11:43 น. เปิดอ่าน 1541 ครั้ง ENดีเอสไอ ร่วมกับมูลนิธิ LPN และ IJM เข้าช่วยเหลือหญิงสาวชาวพม่าถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส 13 ปี โดยไม่เคยได้รับเงินเดือน
เมื่อวันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม 2564 เวลาประมาณ 16.00 น. กองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับแจ้งจากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)ว่าได้รับการร้องขอจากพลเมืองดี ให้ช่วยเหลือหญิงสาวชาวเมียนมาโดยเร่งด่วน ซึ่งถูกหน่วงเหนี่ยว กักขังอยู่ที่บ้านหลังหนึ่ง ในหมู่บ้านผกามาศ ซอย 11 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร จึงได้รายงานผู้บังคับบัญชาฯ ทราบเพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือ ในการนี้ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มอบหมายให้ พันตำรวจโท สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งการให้พันตำรวจตรี สิริวิชญ์ ชาญเตชะสิทธิ์กุล ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ นายเอกรินทร์ ดอนดงผู้อำนวยการส่วนคดีการค้ามนุษย์ 1 และนางสาว วรภัสสร พันธ์เกษม เจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการ ลงพื้นที่ปฏิบัติการให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยใช้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 27 (4) ร่วมกับมูลนิธิ LPN และ IJM ร่วมกันช่วยเหลือดังกล่าว
ทันทีที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้เดินทางไปถึง พบ นางสาววิน (นามสมมุติ) สัญชาติเมียนมา อายุ 26 ปี อยู่ในสภาพอิดโรย หวาดกลัว และร้องขอความช่วยเหลือให้ได้ออกไปอย่างเร็วที่สุด ซึ่งนางสาววิน ได้ถูกนำตัวมาทำงานเป็นคนรับใช้ นานกว่า 13 ปี โดยไม่รู้วันเดือนปี และไม่เคยได้รับเงินเดือน จึงมีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยถูกแสวงประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงาน เอาคนลงเป็นทาส หรือมีลักษณะคล้ายทาส หรือกระทำการอื่นใดเป็นการขูดรีดบุคคล จึงได้ร่วมกันให้การช่วยเหลือ โดยนำตัวผู้เสียหายไปรับการคุ้มครองเพื่อฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจ และจัดให้มีระยะเวลาเพียงพอที่จะคลายความวิตกกังวลและหายหวาดกลัว ตลอดจนให้ได้รับการบริการของรัฐและภาคเอกชนที่เข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และได้รับการตรวจร่างกาย ซึ่งเป็นไปตามหลักการ victim centric approach เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เสียหาย มีความพร้อมก่อนจะร่วมกับทีมสหวิชาชีพ สัมภาษณ์ คัดแยกตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 โดยหลังจากนี้ กองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะดำเนินการตาม
กฎหมายกับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้อง ต่อไป
กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความมุ่งมั่นในการสืบสวน สอบสวน ป้องกันและปราบปรามคดีด้านการ ค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อมูลหรือเบาะแสเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ สามารถแจ้งมายัง กรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขที่ 128 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร หรือทาง สายด่วน 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเก็บรักษาข้อมูลผู้แจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับ