ประชุมผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ครั้งที่ 9/2565 เพื่อติดตามความคืบหน้าการทำงานของหน่วยงาน
เผยแพร่: 11 เม.ย. 2565 13:45 น. ปรับรุง: 11 เม.ย. 2565 13:45 น. เปิดอ่าน 827 ครั้งประชุมผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ครั้งที่ 9/2565 เพื่อติดตามความคืบหน้าการทำงานของหน่วยงาน
ในวันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2565 เวลา 13.30 น. นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ครั้งที่ 9/2565 โดยมี พันตำรวจโท สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยผู้บริหารของหน่วยงานในสังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) และห้องประชุม 1 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ
โดยที่ประชุมรับทราบ……
* ประธานขอบคุณ รองอธิบดี ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีเยี่ยม โดยได้รับมอบหมายเป็นผู้แทนกรมฯ เข้าร่วมงานของกระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งการปฏิบัติการลงพื้นที่ต่าง ๆ ของคณะพนักงานสอบสวน พนักงานสืบสวนที่สร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง อาทิ กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กองฮั้ว) กรณี การเข้าตรวจค้นอดีตผู้บริหารชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่, กองคดีภาษีอากร ที่สนธิกำลังร่วมกับกรมปศุสัตว์ จับสินค้าลักลอบหนีภาษีประเภทเนื้อสัตว์ มูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท, การลงพื้นที่ของศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว ลงพื้นที่ขยายผล/ยึดอายัดทรัพย์กลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฯลฯ
* ประธานได้แสดงความยินดีและชื่นชม กับเจ้าหน้าที่กองคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรณีตัวแทนจาก หลุยส์ วิตตอง ประเทศฝรั่งเศส ได้เข้ามอบโล่ประกาศเกียรติคุณการปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จนกระทั่งไม่ปรากฏรายชื่อย่านการค้าหรือการค้าทางออนไลน์ของประเทศไทย ที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
* การรายงานระบบการรับเรื่องราวร้องทุกข์ทางออนไลน์ กองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ ดำเนินการร่วมกับกองบริหารคดีพิเศษมาอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาเพิ่มเติมเป็นโครงการ CIS ปัจจุบัน คือ ระบบ CIS ระยะที่ 1 เป็นการบริการอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็น e-document โดยผ่านขั้นตอนตามมาตรฐานของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ประชาชนสามารถรับเอกสารของกรมฯ ผ่านระบบสารสนเทศและใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ไปติดต่อกับหน่วยราชการอื่นได้ทันที ไม่ต้องใช้เอกสารต้นฉบับ (กระดาษ) ซึ่งจะได้ทำการประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะต่อไป
* การรายงานข้อมูลที่ประชาชนเข้าร้องเรียน กรณี ถูกหลอกลวงโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 จำนวน 155 ราย คิดเป็นร้อยละ 90 ของผู้ร้องเรียนผ่านโทรศัพท์ และร้อยละ 10 ผู้ร้องเรียนเดินทาง มายื่นหนังสือด้วยตนเอง มูลค่าความเสียหายประมาณ 9,700,000 บาท สรุปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ถึงปัจจุบัน มีผู้ร้องเรียนผ่านกรมสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 434 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 38 ล้านบาท และการรายงานผลการดำเนินงานจากทุกหน่วยงาน
* การติดตามความคืบหน้า กรณี คดีรถหรู ที่ขณะนี้รับเป็นคดีฯ จำนวน 1,020 คัน โดยกำชับผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยภายในเดือนกันยายน 2565 นี้
* แนวทางการดูแลสวัสดิการของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรในสังกัด
ให้กองพัฒนาและสนับสนุนคดีพิเศษ ทำความเห็นและสรุปความพร้อมของห้องพักในสถาบันการสอบสวน คดีพิเศษ เพื่ออนุญาตเป็นสถานที่กักตัวของบุคลากรที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19