DSI ดำเนินคดีกับผู้ลักลอบนำสารพาราควอตซึ่งเป็นวัตถุอันตรายผสมยากำจัดวัชพืช ศาลพิพากษาจำคุกทุกราย ไม่รอการลงโทษ

เผยแพร่: 1 มี.ค. 2566 17:22 น. ปรับรุง: 2 มี.ค. 2566 9:43 น. เปิดอ่าน 7932 ครั้ง  
 

DSI ดำเนินคดีกับผู้ลักลอบนำสารพาราควอตซึ่งเป็นวัตถุอันตรายผสมยากำจัดวัชพืช
ศาลพิพากษาจำคุกทุกราย ไม่รอการลงโทษ


​​พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2562 เป็นต้นมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ได้ดำเนินการมาตรการเชิงรุกในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ด้วยการบูรณาการและร่วมมือกับสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ในการปราบปรามผู้ประกอบการที่ลักลอบนำสารพาราควอต (Paraquat) หรือที่รู้จักในชื่อทางการค้าว่า กรัมม็อกโซน (Grammoxone) ซึ่งเป็นวัตถุอันตราย มาผสมในผลิตภัณฑ์กำจัดวัชพืช และหลอกขายผู้บริโภคผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่าเป็นสารชีวภัณฑ์ปลอดสารพิษ ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการตรวจค้นสถานที่ลักลอบผลิตในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดนครราชสีมา รวมจำนวน 5 แห่ง พร้อมทั้งยึด  ของกลาง และได้สอบสวนขยายผลดำเนินคดีมาอย่างต่อเนื่อง ​​โดยในคดีพิเศษที่ 74/2562 กรณีผู้ประกอบการในจังหวัดนครราชสีมา มีพฤติการณ์ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์กำจัดวัชพืช อ้างว่าเป็นสารชีวภัณฑ์ปลอดสารพิษนั้น ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562 ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.395/2566 พิพากษาให้จำคุกผู้ต้องหาทุกราย ไม่รอการลงโทษ ​​นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 นายวรรณชัย พรหมรักษ์ รองผู้อำนวยการ กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ได้นำสำนวนคดีพิเศษที่ 73/2562 กรณีนิติบุคคลในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีลักลอบนำสารพาราควอตซึ่งเป็นวัตถุอันตรายเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์กำจัดวัชพืช หลอกขายผู้บริโภคผ่านสื่อโซเชียลมีเดียว่าเป็นสารชีวภัณฑ์ ส่งพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา จำนวน 6 ราย ในความผิดฐานร่วมกันกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย, กฎหมายว่าด้วยปุ๋ย, กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ สำหรับสารพาราควอตดังกล่าวนี้ ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ได้กำหนดว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 สารพาราควอตถือเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ซึ่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่าห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอัตรายชนิดที่ 4 เว้นแต่ได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น นอกจากจะดำเนินคดี ตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว หากพบพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้ ก็จะพิจารณาขยายผลในความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงประชาชน หากท่านพบว่าผลิตภัณฑ์กำจัดวัชพืชใด ไม่มีเลขทะเบียนหรือเลข วอ หรือไม่ระบุที่มาของแหล่งผลิตผู้จำหน่าย สามารถตรวจสอบกับกรมวิชาการเกษตรได้ที่ โทร.0 2940 5434 หรือหากพบเห็นผู้ฝ่าฝืน แจ้งมาที่สายด่วน 1202 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (โทรฟรี)  

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ